ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ปรียนันท์’ พร้อมเครือข่าย ฯ ยื่น 3.3 หมื่นชื่อหนุนตั้ง คกก.คุมค่ารักษา รพ.เอกชน ให้ รมว.สธ.แล้ว แจงที่ผ่านมาหน่วยตรวจสอบการทำงานด้านแพทย์ยังกระจายกันอยู่ ทำให้แก้ไขปัญหาไม่ได้ ทั้งเมื่อมีการฟ้องร้องกลับพบผู้บริหาร รพ.นั่งเป็น กก.พิจารณาอีก เสนอนายกฯ ใช้ ม. 44 ล้างบอร์ดแพทยสภา และแต่งตั้ง คกก.กลางที่ไม่มีส่วนได้เสียมาแทน ภายใน 1 เดือน ด้าน รมว.สธ.เผย เตรียมหารือภายใน สธ.เย็นนี้ ก่อนนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแก้ไขปัญหา 15 ก.พ.

เว็บไซต์สยามรัฐรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดย นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายฯ เดินทางมายังศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล (ชั่วคราว) ฝั่งสำนักงาน ก.พ. เพื่อนำรายชื่อประชาชนจำนวน 33,000 ชื่อ จากการเปิดแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อ หนุนตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนและมีหลักฐานว่าโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ายา ค่าบริการสูงเกินจริง และยังมีคดีโกงค่ารักษาด้วย โดย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับเรื่อง

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานด้านการแพทย์ยังคงกระจายกันอยู่ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อย่างกรณีที่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น กลับพบว่าผู้บริหารโรงพยาบาลดังกล่าวนั่งเป็นกรรมการในการพิจารณาคดีของตัวเอง จึงไม่มีความเป็นธรรม จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ล้างบอร์ดแพทยสภา และแต่งตั้งคณะกรรมการกลางที่เป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำงานแทน ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลดำเนินการภายใน 1 เดือน เนื่องจากเกรงว่าหากพ้นรัฐบาลพิเศษไปแล้วจะไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม

ด้าน นพ.รัชตะ กล่าวว่า รัฐบาลรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เบื้องต้นจะดูว่าปัญหาเกิดจากส่วนใด เนื่องจากมีหลายส่วนราชการดูแล และเย็นวันนี้ (12 พ.ค.) ตนจะประชุมกันในกระทรวง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะมีการหารือภายในร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อหาทางแก้ไขให้ถูก ทั้งนี้ขอให้ความมั่นใจต่อประชาชนว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นในส่วนของกระทรวงฯ พยายามปรับปรุงระบบบริการในโรงพยาบาลของรัฐและโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้าได้ทุกที่ ดีทุกสิทธิ" หลังจากที่ออกนโยบายกันมาแล้ว แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ จะต้องมาดูเรื่องการสอดไส้บังคับประชาชนยินยอมจ่ายค่ารักษา  และวันที่ 15 พ.ค.จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์เดลินิวส์