ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข สปช.เสนอออกกฎหมาย ตั้ง 3 กลไกบูรณาการนโยบายเขตสุขภาพ 1.คกก.กำหนดนโยบายสุขภาพชาติ กำหนดทิศทางระดับประเทศอย่างเป็นเอกภาพ 2.คกก.สุขภาพเขต เพื่อหาข้อตกลงงบ กำลังคน ร่วมระดับเขตระหว่างกองทุนสุขภาพและ รพ. โดยให้มี อนุ กก.บริหารการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ และ อนุ กก.จัดบริการสุขภาพ 3.คกก.ส่งเสริมป้องกันโรคระดับจังหวัด เพื่อบูรณาการระหว่างท้องถิ่นและประชาชน

เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 58 เมื่อเวลา 14.15 น. ที่รัฐสภา นายประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงข้อเสนอการกำหนดอำนาจหน้าที่ กลไกในการบูรณาการนโยบายสุขภาพ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ ขาดกลไกในการบูรณาการนโยบายระบบสาธารณสุขของประเทศที่ครอบคลุมทั้งระบบ และระบบบริการสุขภาพในภาพรวมยังขาดเอกภาพ ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม จึงเสนอให้ต้องจัดทำ พ.ร.บ. ที่กำหนดอำนาจหน้าที่กลไกในการบูรณาการนโยบายสุขภาพ โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย

1.ระดับประเทศ ให้มีคณะกรรมการกำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบายในระดับประเทศอย่างเป็นเอกภาพ

2.ระดับเขต ให้มีคณะกรรมการสุขภาพเขต เพื่อเป็นเวทีหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างกองทุนทุกกองทุนและสถานพยาบาลทุกสังกัดในระดับเขต และทำหน้าที่ตกลงการทำงานร่วมกันของสถานพยาบาลภายในเขตและให้ความเห็นชอบในการจัดทำงบประมาณการลงทุนทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคน

และ 3.ระดับจังหวัด ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและป้องกันโรคระดับจังหวัด ให้มีบทบาทในการบูรณาการร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ โดยมีพื้นที่เป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ขณะที่ เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ รายงานว่า พลอากาศเอกขวัญชัย เอี่ยมรักษา ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบบริหารจัดการระบบสาธารณสุข กล่าวถึง แนวทางการปฏิรูปเรื่องเขตสุขภาพ โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รับฟังความคิดเห็นและได้ข้อสรุปเบื้องต้น ว่าจะต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่กลไกการบูรณการนโยบายสุขภาพเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ มีคณะกรรมการกำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง รวมทั้งนโยบายต่างๆ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับเขตมีคณะกรรมการสุขภาพเขต ทำหน้าที่ในการกำหนดการทำงานร่วมกันของสถานพยาบาลภายในเขต รวมทั้งให้ความเห็นชอบงบประมาณการลงทุน ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคน โดยจะมีอนุกรรมการ 2 คณะ คือ อนุกรรมการบริหารการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ และ อนุกรรมการจัดบริการสุขภาพ และในระดับจังหวัด มีคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับจังหวัด ทำหน้าที่ร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและภาคประชาชน โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเป็นการกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านแพทย์แผนไทย ยื่นหนังสือผ่านพลเรือเอกชาญชัย เจริญสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปแพทย์แผนไทย ในคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งมีบทบัญญัติในมาตรา 86 ที่ระบุให้รัฐต้องจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม ทั่วถึงและได้มาตรฐาน รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม

ขณะเดียวกันยังมีการส่งเสริมการนำแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทยมาใช้บริการซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสุขภาพและสุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชนและเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสาธารณสุข จึงขอสนับสนุนให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเดินหน้าในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยให้เกิดการพัฒนาและประชาชนเข้าถึงระบบการบริการได้อย่างเต็มที่