ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในโอกาสเปิดคอลัมน์ใหม่ในสำนักข่าว Health Focus : เจาะลึกระบบสุขภาพ ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “ไม่มีผิด ไม่มีถูก” ซึ่งวัตถุประสงค์ของ “ไม่มีผิด ไม่มีถูก” นี้ ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ให้ผู้อ่านเว็บไซต์ Hfocus ได้ส่งความคิดเห็น และทัศนคติที่มีต่อเรื่องราวของระบบสาธารณสุขในแง่มุมต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสรี โดยไม่มีการฟันธงว่าความคิดเห็นไหนผิด ความคิดเห็นไหนถูก ทุกความคิดเห็นของผู้อ่านล้วนมีความหมาย ส่วนการตัดสินใจว่าอะไรผิด อะไรถูกนั้น ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและการรับรู้ของแต่ละท่านเอง (ผู้อ่านท่านใดที่สนใจ สามารถส่งข้อเขียนในทุกรูปแบบมาได้ที่ email : hfocus1713@gmail.com ค่ะ) 

ดังนั้น ในโอกาสแรกของการประเดิมคอลัมน์นี้ จึงขออนุญาตนำข้อเขียนจาก Facebook/Sakda Alapach หรือ นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข ซึ่งได้เขียนเป็นซีรีส์ใน Facebook โดยระบุว่า เป็น ซีรีส์ "หมอถูกการเมืองเล่น" และลงท้ายบทความที่เขียนว่า By dr.man ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตอนมาเผยแพร่ต่อ ซึ่งตอนแรก ได้โพสต์เผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 ดังนี้

เรื่องราวที่จะบันทึกไว้ ต่อไปนี้ ผมมีแรงบันดาลใจ จากการที่มีโอกาสมาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรู้ รับทราบ เรื่องการบริหารงานระดับกระทรวง เชื่อมโยงกับการบริหารอำนาจในระดับชาติ จึงอยากจะบันทึกเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น ในมุมมองของผู้เขียนเชื่อมโยงกับเรื่องราว เรื่องเล่าในอดีตเท่าที่ผมจะมีความรู้และความทรงจำ โดยตั้งใจจะเขียนเป็นตอนๆ สั้นๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเรื่องหรือหมดแรง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน สำหรับผู้อ่านที่สนใจ หรือถ้าไม่มีใครสนใจก็เป็นการบันทึกให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป เชิญติดตามได้เลยครับ
ตอนที่ 1 "มุ่งมั่นจริงใจ จริงจังในวิชาชีพ"

จะขอเริ่มต้นเรื่องราวของหมออาชีพ ที่ไม่ได้เล่นการเมือง และไม่สนใจการเมือง มุ่งมั่น ตั้งใจในการประกอบวิชาชีพ โดยการรักษาคนไข้ โดยสุจริต แต่กลับถูกการเมืองเล่นงานจนต้องเข้าไปตายในคุก หมอคนนั้น ชื่อ "หมอฮูโต๋" ในยุคสามก๊ก เรื่องราวอิงพงศาวดารจีนอันเลื่องชื่อ เพียบพร้อมด้วยกลยุทธ เล่ห์เลี่ยม ชิงไหว ชิงพริบมากมาย ทั้งเรื่องชีวิต การเมืองและการทหาร

ครั้งนั้น โจโฉ (นายกตลอดกาล) ใกล้จะหมดอายุแล้ว

วันหนึ่ง โจโฉ ไปบัญชาการให้ทหารตัดต้นไม้ใหญ่มหึมา เพื่อเอาไปสร้างวังใหม่ของตน ปรากฏว่าได้เกิดลางไม่ดีหลายอย่างแก่โจโฉ ตกกลางคืนก็มีเทพารักษ์มาเข้าฝัน ครันตื่นขึ้นมาก็ปวดศีรษะอย่างรุนแรง บรรดาแพทย์ประจำกองทัพพยายามรักษาให้ยากินก็ไม่หาย ให้ยาทาก็ไม่ทุเลา ที่ปรึกษาก็เสนอแนะให้ไปตาม "หมอฮูโต๋" มารักษา 

"หมอฮูโต๋" มาถึงก็ได้ตรวจ และวินิจฉัยโรคปวดหัวรุนแรงของโจโฉ ว่า เป็นโรคลมเสียดแทงในศีรษะ แผนการรักษา คือ ให้กินยาไปไม่ให้รู้สึกตัว แล้วจึงผ่าศีรษะด้วยขวานอันคม เพื่อชำระโรคในศีรษะเสียให้หมด (ถ้าเทียบในปัจจุบันก็เหมือนผ่าตัดสมองเพื่อรักษาโรค ซึ่งคนในยุคนั้นก็คงไม่คุ้นเคย) 

หลังจากอธิบายให้ โจโฉ ฟังแล้ว โจโฉโกรธมาก (คงกลัวการผ่าตัดศีรษะมากกว่า กลัวตาย ด้วยโรคปวดศีรษะรุ่นแรง) และระแวงว่า "หมอฮูโต๋" จะใช้วิธีการแพทย์มาฆ่าตน

โจโฉจึงสั่งทหารให้นำ "หมอฮูโต๋" ไปขังไว้ในคุก

จริงๆ แล้วถ้าโจโฉ ไม่เป็นโรคหวาดระแวงจนเกินไป ก็อาจจะคิดได้ว่า ถ้า "หมอฮูโต๋" ต้องการฆ่าตนทำไมจะต้องมาตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาด้วยความสุจริตใจ แทนการใช้การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น ให้ยาบรรเทาอาการ แล้วให้โจโฉค่อยๆ ป่วยตายไปที่และเล็กทีละน้อยก็ได้ หรือว่า "หมอฮูโต๋" ยึดมั่นในวิชาชีพและตรงจนเกินไป

อยู่มาอีกไม่นานนัก "หมอฮูโต๋" ก็ตายไปในคุกนั้นเอง

ก่อนตาย "หมอฮูโต๋" พยายามถ่ายทอดวิชาแพทย์ให้ผู้คุมคนหนึ่งในคุก พร้อมทั้งมอบตำราให้ด้วย ฝ่ายภรรยาผู้คุม เห็นตำราแพทย์ ก็เอาไปเผาทิ้งเสีย เพราะครู (หมอฮูโต๋) ที่ว่าดีนักก็ตายในคุก ถ้าผัวเราเรียนรู้ และเก่งมากขึ้นก็อาจจะตายในคุกเหมือนกัน

เรื่องเล่ายุคสามก๊ก ตอนนั้นคงสอนเราได้หลายประเด็น แต่ที่สำคัญมี 3 ประเด็น คือ

- อย่างโจโฉ ถ้าไม่ "ระแวง" จนเกินไป ก็คงจะมีอายุยืนยาวกว่านี้

- หมออาชีพ อย่าง "หมอฮูโต๋" ในยุคนั้นคงจะมีมากกว่านี้ถ้าคนในยุคนั้นไม่มีวิธีคิด แบบทำดีไปทำไมเดี๋ยวก็ติดคุกตายแบบ "หมอฮูโต๋"

- ตำราเอกฝ่ายการแพทย์จาก "หมอฮูโต๋" คงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถ้าที่ปรึกษาไม่เสนอแนะให้ "หมอฮูโต๋" มารักษาโจโฉ

แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น เรื่องเล่าแบบยุคสามก๊กก็ยังคงเกิดขึ้น เช่น ในยุคปัจจุบัน ในกระทรวงสาธารณสุข ประเทศสารขัณฑ์ ก็ยังมีเรื่องราวคล้ายๆ กันเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น 

ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่ง เป็นผู้นำลุกขึ้นชวนชาวสาธารณสุขขึ้นมาพัฒนาองค์กร ให้มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล ในเมื่อ "เราไม่เอารัฐบาลที่โกงประชาชน" บ้านเราก็ต้องสะอาดด้วย โดยการยึดความถูกต้องเป็นหลัก

แน่นอนการลุกขึ้นมาต่อสู้ และดำเนินการดังกล่าวก็อาจกระทบกับกลุ่มคนบางกลุ่ม องค์กรบางองค์กร 

อาจจะด้วยความระแวง ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าผู้บริหารแบบนี้ อยู่ไปจะทำให้คนอื่นเขาเป็นอันตราย อย่ากระนั้นเลย เอาไปเก็บไว้ดีกว่า

ระวังนะครับการดำเนินการด้วยความระแวง จะทำให้ผู้บริหารรุ่นต่อๆ ไป เปลี่ยนความคิด แบบว่าจะทำดีไปทำไม จะยึดความถูกต้องไปทำไม สู้ทำเอาใจผู้มีอำนาจก็อยู่ได้และก้าวหน้าต่อไปได้ "อันตรายมากครับ" 

โปรดติดตาม ตอนต่อไป "พังเพราะที่ปรึกษา" 

By dr.man