ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : เลขาธิการแพทยสภาสาบาน ไม่มีเอี่ยวผลประโยชน์ทับซ้อน รพ.เอกชน "แพทยสภา" แจงการคุมค่ารักษาทำได้ยากแต่ต้องเผยราคาให้ประชาชนตัดสินใจ จี้ สมาคม รพ.เอกชนคุมโกงรายการค่ารักษา  ด้าน "ยงยุทธ" เผย ข้อเสนอตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาฯน่าสนใจ ยันรัฐบาลรับฟังข้อมูลรอบด้าน ขณะที่เครือข่ายผู้ป่วยฯยืนกราน บอร์ดแพทยสภามีผลประโยชน์ทับซ้อนจริง จ่อ ใช้กฎหมาย "พาณิชย์" คุมค่ารักษา รพ.เอกชนชี้ เด็ดขาดกว่า สธ.

นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคมให้สัมภาษณ์กรณี เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ออกมาเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนเนื่องจากมีค่ารักษาแพงเกินจริงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และขอบคุณทุกฝ่ายที่ออกมาให้ข้อมูล ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลของฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายที่บอกว่าค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง และฝ่ายที่บอกว่าเป็นการคิดค่ารักษาตามหลักเกณฑ์ ตรงนี้ให้เหตุผลว่าการกลัวว่าชาวต่างชาติจะไม่มารักษาพยาบาลที่ประเทศไทยด้วยสาเหตุค่ารักษาพยาบาลแพงนั้น ทุกวันนี้ยังมีชาวต่างชาติเดินทางมารักษาพยาบาลในบ้านเราอยู่รัฐบาลต้องรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายแล้วพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยจะให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)พิจารณาเรื่องวิธีการรักษาควบคู่กับกระทรวงพาณิชย์ที่จะมาดูเรื่องราคาค่ารักษา เพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดย นายกฯกำชับให้ดูแลในเรื่องนี้

รองนายกฯ กล่าวต่อว่าข้อเสนอให้มีคณะกรรมการควบคุมราคา รพ.เอกชนนั้น เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ต้องดูในแง่มุมต่างๆ ทั้งความเป็นธรรมกับผู้บริโภค และต้นทุนของ รพ. ทั้งนี้หากจะมีคณะกรรมการใดๆ เกิดขึ้นควรจะดูเรื่องนโยบายการตั้งราคาค่ารักษาพยาบาลเป็นหลัก ที่สำคัญต้องไม่ปิดกั้นการพัฒนาระบบการรักษาของ รพ.เอกชน ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ยุบคณะกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน เพราะสงสัยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้ไม่เกิดการพัฒนาในวงการการแพทย์นั้น คงต้องขอดูข้อมูลให้ชัดเจนก่อนยังบอกไม่ได้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบหรือไม่

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงการเสนอรัฐบาลใช้มาตรา 44 ในการปลดคณะกรรมการแพทยสภา เนื่องจากเป็นกลุ่มอำนาจเดิม มีผลประโยชน์ทับซ้อนว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น บางคนเป็นเจ้าของ รพ.เอกชน เข้ามานั่งเป็นกรรมการสอบคดีที่ รพ.ตัวเองเป็นคู่ขัดแย้ง บางคนเปิดคลินิกเอกชน ส่วนตัวเห็นว่ามีเจ้าของธุรกิจสถานพยาบาลเอกชนเข้ามานั่งกุมอำนาจในระดับนโยบาย ทำให้ไม่มั่นใจว่าทำเพื่อประชาชนมากกว่า นอกจากนี้ยังครองตำแหน่งในแพทยสภามานาน 5-6 สมัย ดังนั้นหากรัฐบาลรับเรื่องนี้จริงจะถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ยุบกรรมการชุดนี้แล้วสรรหาใหม่ โดยไม่เอาคนหน้าเดิม จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ในการปลดคณะกรรมการแพทยสภา เนื่องจากเป็นกลุ่มอำนาจเดิม มีผลประโยชน์ทับซ้อน ว่าเรื่องนี้ถือเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงมาก ตามกฎของแพทยสภาจะห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั่งอยู่ในห้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนและเมื่อดูที่สัดส่วนของคณะกรรมการแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในจำนวนคณะกรรมการแพทยสภาทั้ง 56 คน นั้นมีสัดส่วน รพ.เอกชน เพียง 6 คน อีกทั้ง 5 ใน 6 คนนี้ยังเป็นข้าราชการเกษียณแล้ว จึงออกไปอยู่ที่ รพ.เอกชน มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็น รพ.เอกชน มาตั้งแต่ต้น ดังนั้นเรื่องนี้ทางแพทยสภาอาจจะต้องหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของแพทยสภาและของแพทย์หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการโจมตีเช่นนี้มาตลอด แต่เราก็ไม่เคยออกมาตอบโต้

"แพทยสภาต้องยืนตามหลักเหตุผล ไม่ต้องไปเอาใจใคร ไม่เกี่ยวเลยว่าแพทยสภาจะดูแลหมอ ปกป้องหมอเกินไปโดยไม่ปกป้องประชาชน ผมสาบานขอยืนยันว่าผมเข้ามาทำงานเพื่อคุ้มครองประชาชน และคุ้มครองแพทย์ไปด้วยกันอย่างสมดุล ผมเป็นข้าราชการและอาสามาทำงาน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ทั้งสิ้นขอให้พูดความจริงกันดีกว่า" นพ. สัมพันธ์ ย้ำ

เลขาธิการแพทยสภา กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคา รพ.เอกชน ส่วนตัวเห็นว่าการควบคุมราคาเป็นไปได้ยาก เพราะ รพ.แต่ละแห่งมีต้นทุนต่างกัน แม้แต่การรักษาโรคเดียวกัน ก็ยังแตกต่างกันมาก เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง บางคนเป็นเพียงไส้ติ่งอักเสบอย่างเดียว แต่บางคนมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย การวินิจฉัยรักษาย่อมแตกต่างกัน แต่ตรงนี้จะต้องแจ้งราคาให้ประชาชนทราบและมีส่วนตัดสินใจที่จะรักษาหรือไม่ นอกจากนี้ตนยังเห็นด้วยว่าต้องตรวจสอบไม่ให้มีการโกงค่ายา การคิดราคามั่ว ๆ ไม่สมเหตุผลต้องไม่มี จะคิดราคาเท่าไหร่ต้องบอกคนไข้ก่อนเพื่อให้ตัดสินใจประเด็นอยู่ที่ว่าคนไข้ได้รับรู้หรือไม่ มีส่วนในการตัดสินใจหรือไม่เรื่องนี้ รพ.เอกชนต้องชี้แจง หรือสมาคม รพ.เอกชนต้องมาควบคุมกำกับมากขึ้น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 15 พ.ค. นี้ เข้าใจว่าที่ สปสช.เข้าร่วม เพราะต้องการข้อมูลเพื่อศึกษาแนวทางในการควบคุมราคาค่าใช้จ่ายของ รพ.เอกชน ที่ผ่านมาไม่เคยทราบต้นทุนของ รพ.เอกชน เลยไม่ทราบแนวทางการคิดค่าใช้จ่าย ทั้งกลุ่มผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก ควรเป็นเช่นไร เพราะในกรณีของ รพ.สังกัด สธ.มีการคำนวณชัดเจน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เช่น กรณีบัตรทอง มีการแบ่งชัดเป็นรายกลุ่มโรคนอกเหนือจากเงินเหมาจ่ายรายหัว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐยังต้องมีการพัฒนาและเน้นการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งมีทีมหมอครอบครัวเป็นทางเลือก ในขณะที่กรุงเทพฯ แม้จะไม่มีสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิแต่ก็มีการดึงคลินิกเอกชนกว่า 300 แห่ง มาทำเป็นหมอประจำ ตรงนี้อยู่ระหว่างการหารือคาดว่าจะดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้

รายงานข่าวจาก สธ.กล่าวว่า สำหรับกฎหมายต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ควบคุมราคาของ รพ.เอกชน ยังติดปัญหาอยู่ อาทิ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ไม่ได้ระบุว่าจะเอาผิดบริษัท หรือรพ.ที่จำหน่ายยาราคาแพงเพราะไม่เคยมีการกำหนดว่าราคากลางเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นหน้าที่กรมการค้าภายใน อย่างไรก็ตามในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ จะระบุเอาไว้ว่าบริษัทยาใดที่ผลิตยาใหม่ และมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องแจ้งโครงสร้างราคายาที่เหมาะสมด้วย หากโครงสร้างยาไม่เหมาะสมอาจไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน แต่กรณีนี้จะบังคับได้เฉพาะยาใหม่เท่านั้น ส่วน พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 กำหนดให้สถานพยาบาลแจ้งราคาแก่ผู้รับบริการ หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับ 2 หมื่น บาท ทั้งนี้ในเรื่องของกฎหมายกำลังพิจารณาว่าจะปรับปรุงเพิ่มเติมหรือไม่ แต่กฎหมายที่บังคับได้จริงๆ เป็นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุชัดเจนว่ายาเป็นสินค้าต้องควบคุมมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับจึงต้องหารือว่าจะใช้กฎหมายนี้อย่างเข้มงวดได้อย่างไร หรือไม่.

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)