ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : รมว.พาณิชย์ แจง ส่งอธิบดีค้าภายในร่วม วง ถก สธ. หาทางแก้ปัญหาชี้รอ สธ. สรุป ให้คุมยาอะไรบ้าง ก่อนไปออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ควบคุม ด้านผู้บริหาร รพ.วิภาวดี พร้อมเปิดรายละเอียดต้นทุน ขณะที่ตลาดหุ้น ไม่พบหุ้นกลุ่มธุรกิจการแพทย์เคลื่อน ไหวผิดปกติ ฝั่งนักวิชาการยา จวกกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจคุมค่ายา แต่ไม่เคยบังคับใช้ แถมอนุ กก. คุมราคายังล่องหน ด้านเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ วอนใช้คนนอก เป็น คณะ กก.กลาง คุมราคา

นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้า ระวังระบบยา (กพย.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมเสนอในการประชุมร่วมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 15 พ.ค. นี้ เพื่อแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลสถานพยาบาลเอกชนแพงเกินจริง โดยเสนอให้มีการออกมาตรฐานราคากลาง ของค่ารักษาพยาบาล และติดประกาศในโรงพยาบาล ต่าง ๆ ว่าการควบคุมราคารักษาพยาบาลต้องแยกให้ชัด หากพูดถึงค่ายา โดยอำนาจตามกฎหมายเป็นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมี พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยาเป็นวัตถุควบคุม แต่ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ไม่เคยบังคับใช้อย่างจริงจัง ละเลยต่อสิทธิของผู้บริโภค อีกทั้งการกำหนดให้ผู้ผลิตยาต้องแจ้งราคา แต่ก็ไม่เคยมีการตรวจสอบว่า ราคาที่แจ้งกับต้นทุนเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่า เคยมีอนุกรรมการควบคุมราคายา แต่อยู่ๆ อนุกรรมการชุดนี้ก็หายเงียบไปเฉย ๆ

ด้าน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการกลางควบคุมราคายานั้น อยากให้ใช้โมเดลของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการคนกลางจริงๆ ซึ่งเครือข่ายฯ เห็นว่า หากเป็นคนกลางมาทำหน้าที่นี้ ต้องไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) หรือแพทยสภา รวมทั้งเครือข่ายฯ แต่ต้องเป็นคนนอกที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานด้านนี้

ที่กระทรวงพาณิชย์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรม การค้าภายใน ไปร่วมประชุมแก้ปัญหาเรื่องยาและค่ารักษา รพ.เอกชน ที่มีราคาแพงกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน เบื้องต้นต้องรอข้อสรุปว่า กระทรวงสาธารณสุขที่เป็นเจ้าภาพ จะให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลหรือควบคุมยาชนิดใดบ้างและกี่ประเภท

ด้าน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ มีกฎหมายควบคุมราคาสินค้าและบริการ และยารักษาโรค เป็นหนึ่งในสินค้าควบคุม แต่ต้องรอข้อสรุปก่อนว่ากระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคายาประเภทใดบ้างและกี่ชนิด เพื่อนำเรื่องเข้าในที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ออกประกาศราคายา สำหรับการดูแลราคายาและค่ารักษาพยาบาลนั้น จะมีกฎหมายเข้ามาควบคุมหลัก ๆ 3 ประเภท คือ 1. การติดป้ายราคา ซึ่งตามหลักการต้องติดป้ายราคาของยาและค่ารักษาในที่สาธารณะให้ประชาชนรับรู้ได้ง่าย 2. เรื่องของค่ารักษาพยาบาล และ 3. เรื่องของการควบคุมราคายา

ขณะที่ นายชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รพ.วิภาวดี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประชาชนและหน่วยงานหลายแห่ง ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจของ รพ. ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ค่าเครื่องมือแพทย์, ค่าบำรุงรักษา และค่าบุคลากรค่อนข้างสูง ซึ่งกำไรส่วนใหญ่จะมาจากรายได้ค่ายา, ค่าห้อง และค่าแล็บ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก และ รพ. พยายามควบคุมกำไรในส่วนนี้ให้ไม่เกิน 10% ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาหารือเรื่องควบคุมค่ารักษาพยาบาล แต่ส่วนตัวมีความยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลด้านต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด เพื่อให้หน่วยงานที่ตรวจสอบ เข้าใจถึงรูปแบบการดำเนินงานและต้นทุนต่าง ๆ เพราะบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องให้ความโปร่งใสกับผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว และยืนยันว่า รพ.วิภาวดี คิดค่าบริการทางการแพทย์ถูกกว่า รพ.เอกชนอื่นอย่างแน่นอน เพราะบริษัทไม่เน้นกำไรสุทธิในธุรกิจดังกล่าว แต่จะให้ความสำคัญกับกำไรจากการลงทุนในธุรกิจอื่นมากกว่า

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ยังได้รายงานความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของกลุ่มธุรกิจทางการแพทย์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ในระดับปกติ.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558