ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากได้เผยแพร่ข้อเขียนจาก Facebook/Sakda Alapach หรือ นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข ซึ่งได้เขียนเป็นซีรีส์ใน Facebook โดยระบุว่า เป็น ซีรีส์ "หมอถูกการเมืองเล่น" และลงท้ายบทความที่เขียนว่า By Dr.man ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตอนมาเผยแพร่ต่อ ซึ่งตอนแรก "มุ่งมั่นจริงใจ จริงจังในวิชาชีพ" ได้โพสต์เผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 และ Hfocus ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ โดยประเดิมเป็นข้อเขียนแรกในโอกาสเปิดคอลัมน์ใหม่ “ไม่มีผิด ไม่มีถูก” ไปแล้ว ก่อนจะได้เผยแพร่ต่อในตอนที่ 2 "พังเพราะที่ปรึกษา" ได้โพสต์เผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 26 เม.ย.58 และต่อไปนี้เป็นตอนที่ 3 "บริหารโดยขาดธรรมาภิบาล" ได้โพสต์เผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 7 พ.ค.58

ซีรีส์ "หมอถูกการเมืองเล่น" ตอนที่ 3 "บริหารโดยขาดธรรมาภิบาล"

เรื่องราวที่จะบันทึกไว้ ต่อไปนี้ ผู้เขียนมีแรงบันดาลใจ จากการที่มีโอกาสมาทำงานที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรู้ รับทราบ เรื่องการบริหารงานระดับกระทรวง เชื่อมโยงกับการบริหารอำนาจในระดับชาติ จึงอยากจะบันทึกเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น ในมุมมองของผู้เขียนเชื่อมโยงกับเรื่องราว เรื่องเล่าในอดีตเท่าที่ผู้เขียนจะมีความทรงจำ โดยตั้งใจจะเขียนเป็นตอนๆ สั้นๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเรื่องหรือหมดแรง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน สำหรับผู้อ่านที่สนใจ หรือถ้าไม่มีใครสนใจก็เป็นการบันทึกให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป เชิญติดตามได้เลยครับ

ตอนที่ 3 บริหารโดยขาดธรรมาภิบาล

"ผู้กำหนดนโยบายไม่ผิด"

เมื่อนโยบายผิดพลาดผู้รับผิดชอบควรเป็นใคร ?

ตัวอย่างของเรื่องนี้ในยุคสามก๊ก ที่เล่ากันอย่างสนุกคือเรื่องราวของ "อองเฮา" นายฉางใหญ่ผู้คุมเสบียงในกองทัพโจโฉ (นายกตลอดกาล)

เมื่อคราวโจโฉยกทัพไปตี อ้วนสุด อ้วนสุดสู้ไม่ได้ก็ลอบพาทหารและครอบครัวถอยไป มอบ 4 ทหารเอกรักษาเมืองไว้

วิธีการรักษาเมืองก็ง่ายๆ คือ ไม่ออกรบปล่อยให้กองทัพโจโฉล้อมไว้

เมื่อล้อมเมืองได้เดือนเศษๆ ข้าวในฉางก็ลดน้อยลง อองเฮา เห็นว่านานไปทหารจะขัดสนจึงรายงานต่อโจโฉ โจโฉจึงสั่งการให้แจกข้าวแก่ทหารน้อยลงแค่พอประทังชีวิต

อองเฮา ค้านคำสั่ง 1 ครั้งด้วยเกรงว่า ทหารจะน้อยใจ กำลังอิดโรย ไม่มีแรงทำสงคราม แต่โจโฉยืนยัน อองเฮา จึงทำตามด้วยความไม่เต็มใจ

ผลเป็นไปตามที่ อองเฮา คาดทุกประการ ด้วยโจโฉให้คนสนิทไปเที่ยวฟังทหารพูดคุยกัน ทหารทั้งปวงเสียกำลังใจและจับกลุ่มกันนินทาโจโฉ

โจโฉจึงออกอุบายใหม่ (ไม่รู้ปรึกษาใคร ?) เพื่อเป็นการเอาใจทหารโดยเรียก อองเฮา มาพบแล้วถามว่า "เราจะขอของรักสิ่งหนึ่งจากท่านเพื่อเอาใจทหารได้หรือไม่"

อองเฮางงถามว่าอะไร

โจโฉตอบว่า "ศีรษะท่าน"

อองเฮา ได้ฟังดังนั้นก็ตกใจและไม่ทันได้ปฏิเสธเพราะโจโฉได้สั่งให้ทหารตัดศีรษะของ อองเฮา และให้ไปเสียบประจานไว้ พร้อมทั้งให้ประกาศว่า อองเฮาทำผิดฉ้อข้าวมหาอุปราชด้วยการกระจายข้าวให้ทหารถังเล็กกว่าเดิม

เรื่องคล้ายๆ อย่างนี้ยังคงเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เช่นเรื่องในกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสารขัณฑ์

เมื่อเจ้ากระทรวงซึ่งเป็นนักวิชาการ (ถูกเพื่อนๆ เอาปี๊บคลุมหัวไล่มาแล้ว) ถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารมาบริหารกระทรวงก็ดำเนินการกำหนดนโยบาย 10 ประการซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานประจำ

ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายประจำก็เสนอว่า เพื่อไม่ให้การปฏิวัติรัฐประหาร (ซึ่งเสี่ยงมากๆ) เสียของ ควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ยากๆ ดีหรือไม่ ? เช่นเรื่องเขตสุขภาพ กลไกการเงิน ธรรมาภิบาล เป็นต้น

คำตอบที่ได้รับก็คือ เรื่องเขตอย่าพูดถึง เรื่องกลไกการเงินอย่าไปยุ่ง เขามีขาใหญ่ดูแลอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องของ กสธ.

ฝ่ายประจำขออีกครั้งโดยให้เหตุผลว่า ผู้ปฏิบัติในส่วนภูมิภาคอยากให้ปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้นกว่าเดิม เจ้ากระทรวงไม่พอใจ เลยสั่งว่าผู้บริหารคนนี้ยุ่งนัก เอาไปห่างๆ จากกระทรวงไป แถมข้อหาให้ด้วย "ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย"

"ผู้กำหนดนโยบายไม่ผิด"

คุณธรรมและธรรมาภิบาลไม่ต้องถามหา

By Dr.Man