นสพ.มติชน : คณะทำงานแก้ปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชน เตรียมเชิญ รพ.เอกชน สมาคม รพ.เอกชน ร่วมหารือในสัปดาห์หน้า ระบุจะหารือให้มีการแจ้งค่ารักษาแยกเป็นแพคเกจ ชาวต่างชาติและคนไทย ด้าน รพ.วิภารามแจง ปัจจุบันแจ้งอัตราค่าบริการล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่อาจไม่ละเอียดเพราะผู้ป่วยแต่ละรายมีภาวะแทรกซ้อนต่างกัน ขณะที่ กพย.อยากให้เชิญ ภาคประชาชน แบะนักวิชาการร่วมหารือด้วย
นสพ.มติชน : เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชุมร่วมกระทรวงพาณิชย์ เตรียมตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องราคายา กำหนดราคายากลาง เพดานกำไรสูงสุด แก้ปัญหา รพ.เอกชนคิดค่ารักษาแพงเกินจริง ว่า สบส.เตรียมทำหนังสือเชิญผู้แทน รพ.เอกชน สมาคม รพ.เอกชนเพื่อร่วมหารือกับทาง สธ.ในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาล ซึ่งนอกจากอำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ให้เอกชนแจ้งอัตราค่าบริการต่อประชาชนแล้ว จะมีการหารือให้มีการแจ้งอัตราค่าบริการที่แยกเป็นแพคเกจ ระหว่างชาวต่างชาติและแพคเกจของคนไทย ขณะเดียวกัน ในเรื่องของพวกหัตถการต่างๆ อย่างการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมก็ต้องแยกให้ชัดว่า เป็นวัสดุชนิดใด ผลิตจากประเทศไหน เพื่อแยกราคาออกมาให้ประชาชนทราบ ซึ่งทั้งหมดจะมีการดำเนินการและขอให้ รพ.เอกชนแจ้งอัตราตามจุดบริการใน รพ.ของตนเอง พร้อมทั้งแจ้งผ่านเว็บไซต์ รพ. และทาง สบส.จะดำเนินการรวบรวมทั้งหมดอย่างเป็นระบบอีกทางหนึ่ง
นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาราม กล่าวว่า ในเรื่องการแจ้งอัตราค่าบริการนั้น เป็นกฎหมายที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว อย่างการตั้งจุดสอบถามค่าบริการก็มีการจัดทำแล้วเช่นกัน ส่วนที่จะให้มีการแจ้งค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือจากค่ายาต่างๆ นั้น อาจแจ้งอัตราได้ไม่ละเอียดมากนัก เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกัน ประกอบกับต้นทุนแต่ละแห่งก็จะต่างกันอีก ดังนั้น คงต้องรอรายละเอียดจากการประชุมของ สธ.และ รพ.เอกชนว่า สุดท้ายจะออกมาอย่างไร แต่ที่ผ่านมา รพ.วิภารามก็ให้ความร่วมมือตลอด อย่างการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติหรือคนไทยจะใช้อัตราค่าบริการเหมือนกัน แพคเกจ การรักษาต่างๆ ก็ราคาเดียวกันหมด ไม่มีการแบ่งแยกว่าต้องแพงกว่าหรือถูกกว่า
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.จะเชิญภาคเอกชนมาหารือเรื่องนี้ อยากให้เชิญภาคประชาชน นักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้ควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากกระทบในวงกว้าง ที่สำคัญมองว่า รพ.เอกชนมีความเป็นธุรกิจมากเกินไป อย่างในต่างประเทศบางประเทศมีการกำหนดไม่ให้ รพ.เอกชนเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้คำนึงถึงผลกำไรของผู้ร่วมหุ้นเป็นหลัก
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 พฤษภาคม 2558
- 13 views