ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์แนวหน้า : ชมรมสาธารณสุขนำทีมกว่า 200 คน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ยกเลิกประกาศคำสั่งของ ก.พ.ที่ให้ยกเลิกการคัดเลือกบรรจุ นวก.สธ.และ จพ.สธ.ที่จบจากวิทยาลัยสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกเข้าเป็น ขรก. ระบุกระทบ 1,476 รายที่จบการศึกษาแล้วกำลังรอบรรจุ และอีก 1,300 รายที่กำลังศึกษาอยู่ ชี้การให้สอบแข่งขันกับสถาบันอื่นกว่า 71 แห่ง อาจได้บุคลากรไม่ตรงตามต้องการ แนะหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดขอให้เป็นปีการศึกษาต่อไปจะดีกว่า ด้านรองเลขาธิการ ก.พ.แจงเหตุผล เพื่อให้แข่งขันจากทุกสถาบันเท่าเทียมกัน แต่จะนำข้อเสนอเข้าที่ประชุม คกก. ก.พ.ภายใน มิ.ย.หรือ ก.ค.นี้

เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 58 เวลา10.30 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงาน ก.พ. ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย นำโดย นายปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมฯ พร้อมสมาชิกกว่า 200 คน ได้ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ยกเลิกประกาศคำสั่ง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ระบุให้ยกเลิกการคัดเลือกการบรรจุอัตรากำลังของวิทยาลัยสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก เข้าเป็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อบุคลากรที่จบการศึกษาจำนวน 1,476 ราย และบุคลากรที่ยังคงศึกษาอยู่จำนวน 1,300 ราย เพราะหลักเกณฑ์ใหม่กำหนดให้มีการสอบการแข่งขันกับสถาบันอื่นๆ กว่า 71 แห่งทั่วประเทศ อาจทำให้ได้บุคลากรที่ไม่ตรงตามความต้องการในแต่ละพื้นที่ และทำให้บุคลากรที่รอการเข้าบรรจุและกำลังศึกษาอยู่ เสียสิทธิในการเข้ารับราชการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า รวมถึงไม่มีมาตรการรองรับในเรื่องดังกล่าว จึงขอให้มีการคุ้มครองนักศึกษาที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวก่อน และหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ขอให้มีผลบังคับใช้กับนักศึกษาในปีการศึกษาถัดไปแทน

นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า อยากให้นายกฯ ทบทวนคำสั่งดังกล่าว รวมถึงแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว โดยขอให้มีการบรรจุบุคลากรที่จบแล้วเข้ารับราชการ รวมถึงสำรวจจำนวนนักศึกษา เพื่อวางแผนรองรับล่วงหน้า พร้อมจัดทำแผนความต้องการบุคลากรในอนาคต และแผนแม่บทกำลังคนตั้งแต่การผลิต การพัฒนา ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และเส้นทางอาชีพ นอกจากนี้ยังเสนอให้ปฏิรูปการบริหารจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ นายวิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ. ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือพร้อมชี้แจงว่า ที่มาของมติดังกล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานศึกษาที่ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขมีเพิ่มขึ้น และกลุ่มดังกล่าวก็มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้มีการเปิดกว้างเพื่อบรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขจากทุกสถาบันอย่างเท่าเทียมกัน และข้อเรียกร้องที่ให้มีการคุ้มครองผู้ที่ศึกษาวิทยาลัยสังกัดพระบรมราชชนกและผู้ที่จบการศึกษา รวมทั้งนักเรียนทุน ตนก็จะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ก.พ. ต่อไป คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน มิ.ย.นี้หรือ ก.ค. เป็นอย่างช้า