ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อัมมาร” เผยผลสอบ คกก.สอบข้อเท็จจริงการนำเสนอข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพ ระบุ กรณี สปสช.จ่ายเงินให้ รพ.ล่วงหน้า ผลตรวจสอบพบ เป็นการหักกลบหนี้ทางบัญชี ชี้การได้รับเงินล่วงหน้า ทำให้ทราบกระแสรายได้ รายจ่ายในแต่ละช่วงเวลา ส่วนกรณีวิกฤติการเงิน รพ.นั้น ตรวจพบมีรายได้จากการรับโอน ที่ไม่ได้บันทึกเป็นรายได้ 1,177 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน แต่รับรู้เป็นหนี้สินหมุนเวียน 1,247 ล้านบาท แนะ รพ.สธ.ต้องมีระบบบัญชีเทียบเท่ารัฐวิสาหกิจ มีการตรวจสอบระบบบัญชี เพื่อจะได้วินิจฉัยสถานะการเงิน รพ.ได้ถูกต้อง พร้อมเรียกร้อง สปสช.ต้องหางบประมาณให้เพียงพอกับที่สัญญากับประชาชนและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมมีการนำเสนอรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า หลังจากที่มติบอร์ด สปสช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนำเสนอข้อมูลการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่มีการนำเสนอในที่ประชุมบอร์ด สปสช. โดย ปลัด สธ. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 57 และ เลขาธิการ สปสช. เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 58 เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงที่ตรงกัน ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะไม่พิจารณาประเด็นเชิงนโยบายที่มีผลต่อเนื่องจากข้อมูล และวันนี้ทางคณะกรรมการฯ ก็ได้นำเสนอผลการตรวจสอบให้บอร์ด สปสช.ได้รับทราบ

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนำเสนอข้อมูลการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า มี 4 ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง ซึ่งประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ อาทิเช่น ประเด็นกรณีโอนเงินแล้วเรียกคืน นั้น ผลการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลที่ปลัด สธ.นำเสนอ เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ของ สปสช.จริง ซึ่งเป็นการจ่ายล่วงหน้าสำหรับบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูง/อุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน/บริการเฉพาะโรค/ยาจำเป็นและยาที่มีปัญหาการเข้าถึง และจะมีการหักกลบหนี้ทางบัญชี โดยจะทำการหักรายได้สะสมไปเรื่อยๆ เมื่อเกิดผลงานบริการ จนมีวงเงินเท่ากับเงินที่จ่ายไปเบื้องต้น และจะจ่ายเพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากที่กระทบยอดหนี้สินแล้ว

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า คณะกรรมการมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ปกติเมื่อหน่วยงานได้รับส่วนที่เป็นรายได้ของตนล่วงหน้าหรือเร็วกว่าที่คาด ย่อมถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เสียหายแต่อย่างใด อาจจะดีด้วยซ้ำไป อย่างน้อยก็ดีกว่าการได้รับเงินล่าช้า ถ้าฝ่ายที่ส่งรายได้นั้นชี้แจงให้ชัดเจนว่าเงินส่วนนี้เป็นรายได้ล่วงหน้า และถ้าฝ่ายที่รับเงินนั้นมีความเข้าใจว่ากระแสเงินที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จะทำให้กระแสในอนาคตลดลงจะต้องบริหารเงินให้สมดุลระหว่างรายได้ และรายจ่ายในแต่ละช่วงเวลา ทั้งหมดนี้ แสดงถึงวัฒนธรรมการใช้จ่ายเงินภายใน สธ. ที่หมกมุ่นอยู่กับสภาพคล่องขณะใดขณะหนึ่ง ไม่มองดูกระแสรายได้ รายจ่ายในแต่ละช่วงเวลา การเข้าใจและการใช้ระบบบัญชีภายใน สธ.ก็แสดงถึงความหมกมุ่นดังกล่าว

“ส่วนประเด็นผลกระทบการบริหารกองทุนของ สปสช. กรณีวิกฤติการเงินของหน่วยบริการนั้น ผลการตรวจสอบพบว่า การกำหนดผังบัญชีและการบันทึกบัญชีบางรายการ ส่งผลต่อการสรุประดับความเสี่ยงทางการเงินของ รพ. ทำให้สถานะทางการเงินของ รพ. เป็นไปในทิศทางที่มีปัญหามากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งคณะกรรมการฯ ตรวจพบว่า รายได้จากการได้รับโอน ไม่ได้บันทึกเป็นรายได้ จำนวน 1,177.76 ล้านบาท และพบว่า ในส่วนของหนี้สินไม่หมุนเวียน มีการรับรู้เป็นหนี้สินหมุนเวียน จำนวน 1,247.75 ล้านบาท จึงทำให้ผลการวิเคราะห์สภาพคล่องแย่กว่าที่เป็น” ศ.ดร.อัมมาร 

ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวต่อว่า ซึ่งในประเด็นข้างต้นนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า เนื่องจาก รพ.สังกัด สป.สธ.สามารถนำเงินแหล่งต่างๆ ที่ได้รับโดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแต่สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้ในลักษณะเงินบำรุง ดังนั้น รพ.ทุกแห่งจึงควรมีระบบบัญชีที่แสดงสถานะการเงินอย่างน้อยต้องเทียบเท่ากับระบบรัฐวิสาหกิจ ขณะเดียวกัน การบันทึกในผังบัญชีส่งผลต่อผลลัพธ์การคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานทางบัญชีที่ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง หรือการตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขการบันทึกบัญชี ซึ่งสิ่งที่พบการบันทึกทางบัญชียังมีความแตกต่างกัน อีกทั้งระบบบัญชียังมีลักษณะซับซ้อน และไม่เอื้อให้ทั้งผู้บันทึกบัญชีและผู้บริหาร รพ.ที่จะใช้บัญชีนั้น เข้าใจในระบบการเงินของหน่วยงานของตนพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าปัญหาการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากปัจจัยใด ซึ่งระบบบัญชีที่ไม่นิ่งมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะการปรับเกลี่ยงบประมาณของหน่วยบริการในกระทรวงสาธารณสุขเอง

“กระทรวงสาธารณสุขจึงควรมีระบบการตรวจสอบระบบบัญชีที่เคร่งครัด โดยผู้ตรวจสอบภายนอกที่เป็นกลางเพื่อสอบทานความถูกต้องทั้งมาตรฐาน และ ตัวเลขทางบัญชี ปัญหาดังกล่าวนี้มีความสำคัญ เพราะเหตุว่าในระบบการจ่ายเงินส่วนใหญ่ที่ สปสช. ใช้กับ รพ.นั้นเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัวหรือตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ไม่มีความสัมพันธ์กับต้นทุนของงานที่ได้ทำเป็นชิ้นที่เห็นได้ง่ายๆ เหมือนการจ่ายเงินแบบ fee-for-service แต่เป็นการจ่ายที่ดูจากต้นทุนเฉลี่ยของทั้งระบบ ขณะเดียวกัน สปสช. ก็มีหน้าที่ต้องคำนวณ และ เรียกร้องงบประมาณมาให้เพียงพอกับงานที่สัญญากับประชาชนไว้ และเป็นความรับผิดชอบของ สปสช. ที่ต้องเรียกร้องงบประมาณให้เพียงพอกับต้นทุนที่จำต้องเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมา สปสช. ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับ รพ. ที่จะเข้าใจว่า ส่วนที่จะเพิ่มขึ้นของงบประมาณมาจากปัจจัยใดบ้าง (cost driver) ดังนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สปสช. ต้องทำตัวเลขนี้ (cost driver) ให้ทุกคนเข้าใจ” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว