ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพ สร้างระบบจัดเก็บข้อมูลสุขภาพชุมชน ให้ชาวบ้านชุมชน ท้องถิ่นเป็นเจ้าระบบสุขภาพและแก้ไขปัญหาสุขภาพตนเองในพื้นที่ ด้วยเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลสุขภาพ โปรแกรม central Health 4 ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และข้อมูลสุขภาพตามกลุ่มวัย อยู่ตรงไหนเจ็บป่วยเป็นอะไร ฉุกเฉินแค่ไหน ชาวชุมชนดงละครจะมีข้อมูลสุขภาพที่สามารถตรวจสอบเองได้ตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 องค์การบริหารส่วนตำบลดงละคร  รพ.สต.ท่าแห สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี เปิดโครงการการจัดการข้อมูลสุขภาพชุมชน ด้วยโปรแกรมเก็บข้อมูลสุขภาพชุมชน central Health 4 โดยมี นพ.ระวี  สิริประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายก เป็นประธานเปิด นายเกียรติศักดิ์ ชูเกียรติศิริ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงละคร กล่าวรายงาน และ พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้เชี่ยวชาญ สำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. ร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้

นพ.ระวี สิริประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายก กล่าวว่า การสร้างเสริมความเข้มแข็งของกลไกนโยบายสาธารณะ มุ่งเน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ข้อ นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งพื้นที่ตำบลดงละครเป็นพื้นที่นำร่องโครงการจัดการข้อมูลสุขภาพชุมชน ด้วยโปรแกรมเก็บข้อมูลสุขภาพชุมชน central Health 4 แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการดำเนินงานกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง  หัวใจของระบบการจัดเก็บข้อมูลสภาวะสุขภาพชุมชน  (Central Health 4)  ประกอบด้วย การมีส่วนร่วม ได้แก่การมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดเก็บข้อมูล ตั้งแต่การออกแบบ วิธีการ และการเข้าไปเก็บข้อมูลในชุมชน โดยความร่วมมือจากคนในชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เห็นและเข้าใจสถานการณ์สุขภาวะในชุมชน ประการที่ 2 ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่ได้จากการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดเก็บข้อมูล จะเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงาน องค์กรและพื้นที่ ได้  และสุดท้ายกระบวนการเรียนรู้ เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ในมิติการจัดการข้อมูลในระดับต่างๆ การวางแผนการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจการพัฒนา  ซึ่งถือเป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการร่วมเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพชุมชนอย่างแท้จริง ตั้งแต่ชุมชน ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลดงละคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ตำบลดงละคร และสถาบันการศึกษาวิทยาลัยนานาชาติเซนท์เทเรซา

นายเกียรติศักดิ์ ชูเกียรติศิริ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงละคร นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามที่ นพ.สสจ.นครนายกกล่าวถึง 1 ใน 10 ข้อ ได้แก่ ข้อ 4 สร้างเสริมความเข้มแข็งของกลไกนโยบายสาธารณะ มุ่งเน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน ซึ่งโครงการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการข้อมูลทางด้านสุขภาพระดับชุมชน (CentralHealth4: CH4) ในพื้นที่นำร่องของตำบลดงละคร โดยมี อบต.ดงละคร และ รพ.สต.ท่าแห ร่วมดำเนินการ เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อน DHS ได้รูปแบบของการจัดการฐานข้อมูลในระดับชุมชนที่สอดคล้องกับการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของพื้นที่ และองค์ความรู้นั้นจะเป็นข้อมูลที่นำไปพัฒนาต่อในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ     

พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้เชี่ยวชาญ สำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. กล่าวว่า สปสช.เขต 4 สระบุรี ให้การสนับสนุนในกระบวนการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่  โดยมีพื้นที่นำร่อง จ.นครนายก และได้รับความร่วมมือจากคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา ที่เข้าเก็บข้อมูลร่วมกับ อสม.หรือจิตอาสา ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของข้อมูล ทั้งนี้ ความสำเร็จของระบบสุขภาพระดับอำเภอ หรือ  DHS ที่ดำเนินการ จะมุ่งให้เกิดมิติสุขภาวะที่ดีของอำเภอ (District Health Systems) ซึ่งเป็นภาพของการรับรู้และร่วมสร้างสุขภาวะที่ดี ของประชาชนในอำเภอให้ดีขึ้น เกิดสมดุลด้วยทีมสาธารณสุขที่เป็นทีมเดียวกัน สำหรับหัวใจที่สำคัญ คือ “การมีส่วนร่วม” เงื่อนไขที่จะเป็นเครื่องมือในการชี้ชวนให้ทุกคนได้มองเห็นสถานการณ์ร่วมกัน คือ ระบบข้อมูลสุขภาพชุมชนที่มีคุณภาพ (เครื่องมือการเก็บ การวิเคราะห์ข้อมูล การใช้ข้อมูล) ที่บอกถึงสถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่ ที่มีความทันสมัย และทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ สร้างกระบวนการทำงานตามแนวทาง Context Based Learning (CBL) ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ทั้งนี้ในระดับพื้นที่จะมีข้อมูลการเจ็บป่วย ข้อมูลด้านสุขภาพตามกลุ่มวัย ข้อมูลผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของชุมชนเอง  การเข้าถึงข้อมูลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น อปท.ในพื้นที่ ตลอดจนการรับรู้ข้อมูลด้านสุขภาพของชุมชน  สิ่งที่ตามมาคือความร่วมมือ เกิดการร่วมกันแก้ไขปัญหาของชุมชน และมีระบบดูแลติดตามแบบทันท่วงที 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง