ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ปิ่น นันทะเสน” ชนะเลือกตั้งเป็น “นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขคนใหม่” พร้อมคณะกรรมการบริหารยกทีมด้วย 765 คะแนน ชนะผู้แข่งขัน “ทัศนีย์ บัวคำ” ได้รับ 673 คะแนน พร้อมเปิดใจ “ภูมิใจความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวหมออนามัยที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง” เตรียมรับมอบส่งงานจากผู้บริหารชุดเดิม ประกาศเดินหน้าแก้ระเบียบสมาคม เน้นโปร่งใส ธรรมาภิบาล ผลักดันจัดตั้งสภาวิชาชีพการสาธารณสุขใน 6 เดือน

(ซ้าย) นายปิ่น นันทะเสน (ขวา) นางทัศนีย์ บัวคำ (ขอบคุณภาพจาก facebook/สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข)

ในการเลือกตั้ง “นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข” และกรรมการบริหารสมาคม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา โดยเป็นการแข่งขันเลือกตั้งระหว่าง 2 ทีม คือ 1.ทีม นางทัศนีย์ บัวคำ ภายแนวคิด “กล้านำ กล้าทำ กล้าเปลี่ยน สู่นักสาธารณสุขมืออาชีพ” และ 2.ทีม นายปิ่น นันทะเสน ที่นำเสนอเน้นความเป็นหมออนามัย 100% ภายใต้แนวคิด “สานงานต่อ ก่องานใหม่ หัวใจคือสมาชิก” ซึ่งจากผลการนับคะแนนเลือกตั้งในวันดังกล่าว ปรากฎว่า นายปิ่น ได้รับการเลือกให้เป็น “นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขคนใหม่” ด้วยคะแนนเสียง 765 คะแนน ชนะ นางทัศนีย์ ที่ได้รับคะแนนเสียง 673 คะแนน นอกจากนี้ยังได้รับการเลือกตั้งแบบยกทีม ถือเป็นการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข   

ทั้งนี้ นายปิ่น ได้เปิดเผยภายหลังการประกาศผลคะแนนเลือกตั้ง ว่า แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องสถานที่ซึ่งอยู่ไกล ทำให้มีหมออนามัยที่มาร่วมประชุมกันไม่มาก ประกอบกับข้อจำกัดหลักเกณฑ์การเลือกตั้งต่างๆ ที่กำหนดขึ้น แต่ก็ถือเป็นตัวแทนเสียงหมออนามัยทั่วประเทศ และรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหมออนามัยที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสมาคมฯ ที่ต้องการให้เน้นที่การมีส่วนร่วม ทำงานเป็นทีม เน้นที่ความโปร่งใส และธรรมาภิบาล และให้การทำงานของสมาคมฯ เป็นระดับสากลมากขึ้น

นายปิ่น กล่าวต่อว่า หลังจากนี้คงต้องรอการส่งมอบงานจากนายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และทีมคณะกรรมการในปัจจุบัน ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับคือก่อนที่คณะกรรมการชุดเดินจะหมดวาระลง ต้องจัดต้องจัดการเลือกตั้งก่อน 90 วัน ซึ่งต่อจากนี้ต้องรอดูว่าจะมีการส่งมอบงานเมื่อไหร่ จากนั้นจึงจะมีการจัดทีมในการบริหารต่อไป   

ส่วนสิ่งที่ต้องดำเนินการในการบริหารสมาคมนั้น นายปิ่น กล่าวว่า จะต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับ ควรกำหนดให้เป็นไปตามระเบียบสากลที่ควรเป็น เช่น การกำหนดวาระนายกสมาคมฯ และกรรมการ จะต้องอยู่ในวาระ 2 ปี และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไม่เกิน 2 วาระ พร้อมกันนี้จะต้องมีการตรวจสอบการดำเนินงาน โดยเฉพาะงบดุลสมาคม ที่ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นผู้นำเสนอ ซึ่งระเบียบเหล่านี้ที่ผ่านมาไม่เคยมี 

นอกจากนี้ในแง่ของวิชาชีพหมออนามัยนั้น จะต้องเน้นการทำหลักสูตรการเรียนการสอนหมออนามัย ที่ต้องมีการกำหนดเรียนการบำบัดโรคเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยา การทำแผล การควบคุมโรค เหล่านี้ต้องอยู่ที่ 16 หน่วยกิต ทั้งนี้เพื่อให้หมออนามัยที่จบมาสามารถทำงานยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้ ซึ่งที่ผ่านมาภายหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ที่ทางหมออนามัยร่วมกันต่อสู้ แต่ปรากฎว่าจะมีการนำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปให้กับมหาวิทยาลัย ที่เน้นการผลิตนักวิชาการสาธารณสุข โดยมีวิชาด้านการบำบัดโรคเพียง 3 หน่วยกิต ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะนักเรียนเหล่านี้เมื่อจบมาจะทำงานได้เพียงแต่การควบคุมโรคให้กับหน่วยงานและโรงงานต่างๆ แต่จะไม่สามารถทำงานยัง รพ.สต.ได้ ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การผลิต ส่วนใบประกอบวิชาชีพโรคศิลปะ ซึ่งเป็นใบรับรองวิชาชีพและการปฏิบัติหน้าที่ของหมออนามัยนั้น ยืนยันว่าต้องมีและต้องผลักดัน เนื่องจากถูกบรรจุไว้ในมาตรา 3 ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ด้วย

นอกจากนี้ นายปิ่น ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งสภาวิชาชีพการสาธารณสุข ว่า ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง ได้มีการประชุมไปหลายครั้ง มีการเขียนระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นระเบียบการเงิน การเลือกตั้งสภา การรับสมัครสมาชิก และได้มีประกาศชั่วคราวหลายฉบับ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังมีข้อท้วงติงจากกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุง อย่างไรก็ตามหากรับมอบการบริหารสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขแล้ว จะเร่งผลักดันให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพการสาธารณสุขให้ได้ภายใน 6 เดือน