ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เตรียมรับมือกับปัญหาขาดแคลนสมุนไพร และสมุนไพรที่ปลูกมีคุณภาพลดต่ำลง เร่งส่งเสริมเกษตรกรการปลูกสมุนไพรในชุมชนเป็นทางเลือก

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมแพทย์แผนไทยแห่งชาติประจำ ปี 2558 ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่เขตสุขภาพที่ 2 จ.พิษณุโลก ว่า ปัจจุบัน “สมุนไพร” ของไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ แม้ไทยจะมีโรงงานแปรรูปสมุนไพรที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นับวันวัตถุดิบสมุนไพรจะหายาก มีราคาแพงขึ้น ทำให้มีปัญหาขาดแคลนสมุนไพร ประเด็นในการจัดงานมหกรรมแพทย์แผนไทยแห่งชาติประจำปีนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ  ปลายน้ำ โดยเฉพาะปลายน้ำจะเน้นในเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพและมาตรฐานต้องพัฒนาส่งเสริมให้ได้ระดับสากล เพื่อการจำหน่ายออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทยในการนำมาประยุกต์ใช้ในระบบบริการสุขภาพและการดูแลสุขภาพประชาชนให้มากขึ้น

อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีสมุนไพรเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบสมุนไพร อีกทั้งสมุนไพรที่ปลูกมีคุณภาพต่ำลง เพราะเกษตรกรยังไม่รู้วิธีการเลือกสายพันธุ์ วิธีการปลูกที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ จึงต้องเร่งรัดส่งเสริมด้านการผลิตสมุนไพรทั้งระบบ ซึ่งการดำเนินงานจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, อย., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, รพ.อภัยภูเบศร ฯลฯ โดยเบื้องต้นจะร่วมกับกรมป่าไม้ในการจัดพื้นที่ปลอดสารเคมีในป่าชุมชน ให้ทำการเพาะปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6,000 ไร่ ในระยะ 2 ปี และจะส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนอาชีพ

จากเดิมที่ปลูกข้าว หรือ ยางพาราแล้วมีปัญหา หันมาปลูกสมุนไพรกันมากขึ้น ให้เป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม มีการจัดตั้งศูนย์แปรรูปวัตถุดิบในชุมชนเป็นแหล่งรวบรวมสมุนไพรที่มีในท้องถิ่นนั้นๆ มาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ จนถึงขั้นแปรรูปเป็นสารสกัดส่งขายต่างประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับชุมชน ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน จากที่เคยประสบปัญหากับการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นทางเลือกกับประชาชนอีกด้วย

“สำหรับพื้นที่พิษณุโลกซึ่งเป็นศูนย์กลางของเขตบริการสุขภาพที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และอุตรดิดถ์ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งของเครือข่ายสูงผลงานของหลายๆ จังหวัดในเขต 2 ถือว่ามีความเข้มแข็งมาก โดยพบว่ามีโรงงานที่ผ่าน GMP แล้วถึง 2 แห่ง อยู่ที่อุตรดิตถ์คือโรงพยาบาลพิชัย และพิษณุโลกที่โรงพยาบาลบางกระทุ่ม ในขณะที่ทั้งประเทศมีโรงงานแปรรูปสมุนไพรเป็นยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม จำนวนทั้งสิ้นเกินกว่า 600  แห่งแล้ว เป็นโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน GMP ของภาครัฐ 15 แห่ง ของภาคเอกชน 27 แห่ง ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการจะสามารถช่วยลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสมุนไพรและราคาที่ไม่เป็นธรรมได้ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์กับชุมชน ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน จากที่เคยประสบปัญหากับการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นทางเลือกกับประชาชนอีกด้วย” นพ.ธวัชชัย กล่าว