ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จัดทำยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ 6 แนวทาง เร่งพัฒนาการจัดบริการให้สอดคล้องกับพื้นที่ทั้งเขตเมืองใหญ่ และพื้นที่เฉพาะ เช่น เขตอุตสาหกรรม พื้นที่ชายแดน ท่องเที่ยวและทุรกันดาร เพิ่มบุคลากรและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็น ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในแต่ละพื้นที่ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวก ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมในทุกพื้นที่ ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ เน้นทำงานแบบทีมหมอครอบครัว เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งโรงพยาบาล ชุมชน เอกชน ท้องถิ่น

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น “ร่างแนวทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ”จากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพต่างๆ ผู้แทนจากกทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน อสม. และชมรมร้านยา จำนวน 100 คนเพื่อนำมาปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับและเกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นสถานบริการหลักในการจัดบริการดูแลประชาชน ขณะนี้มีครอบคลุมทุกตำบลแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาคือการจัดบริการให้สอดคล้องกับพื้นที่ เขตเมืองใหญ่ และพื้นที่เฉพาะ เช่น เขตอุตสาหกรรม พื้นที่ชายแดน ท่องเที่ยวและทุรกันดาร โดยการเพิ่มบุคลากร และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็น จึงได้จัดทำ “ร่างยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ พ.ศ. 2559 -2568” เพื่อพัฒนาบริการระดับนี้ให้เข็มแข็งขึ้น เชื่อมโยงบริการดูแลประชาชนร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและศูนย์เชี่ยวชาญต่างๆ รวมทั้งองค์กรนอกสังกัดที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน เป็นต้น ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมในทุกพื้นที่ เน้นการทำงานในรูปทีมหมอครอบครัว ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง ลดโรคภัยไข้เจ็บ ส่งผลให้โรงพยาบาลแออัดน้อยลง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิมี 6 แนวทาง ดังนี้ 1.เพิ่มศักยภาพและการขยายบริการระบบปฐมภูมิให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่เฉพาะ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ภาคเอกชน ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ 2.พัฒนากลไกระบบการบริหารจัดการด้านบริการปฐมภูมิในชุมชน ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การป้องกัน ส่งเสริม การฟื้นฟูสุขภาพ 3.พัฒนาระบบสนับสนุนการบริการปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนากำลังคนที่หน่วยบริการปฐมภูมิ และการสนับสนุนให้วิชาชีพอื่นๆ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ร่วมให้บริการมากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้บุคลากร ให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมในบริบทพื้นที่

4.บริหารงานอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงเครือข่ายบริการสอดคล้องกับพื้นที่ 5.พัฒนาปัจจัยต่างๆเพื่อสร้างความสำเร็จ เช่น พัฒนาผู้นำทั้งในและนอกสังกัด การสร้างทักษะเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน พัฒนาระบบข้อมูลเชื่อมโยงความรู้ในแต่ละด้านที่เอื้อประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน และ 6.พัฒนาระบบติดตามประเมินผลและการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น