ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ดร.วรวรรณ” ทีดีอาร์ไอ แจงงานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ศึกษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังในแต่ละสิทธิสุขภาพ พบสิทธิข้าราชการมีอายุยืนยาวกว่า แถมมีค่าใช้จ่ายมากกว่าสิทธิอื่น แต่ไม่อาจเอามาวิเคราะห์ได้ว่าเป็นเพราะสิทธิบัตรทองได้รับการรักษาไม่มีคุณภาพ เพราะยังต้องศึกษาตัวแปรอื่นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาชีพ หรือรายได้ที่สูงกว่า ชี้หากทำแบบนั้นเท่ากับบีบบังคับข้อมูลที่มีเล็กน้อยให้ตอบคำถามมากไป ยันสิ่งที่ได้จากการวิจัยนี้เพื่อการพัฒนาว่าจะทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำลดลง

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า งานวิจัยเกี่ยวกับผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพที่กลายเป็นประเด็นเข้าใจผิดและนำไปสู่การโจมตีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ขอชี้แจงว่างานวิจัยนี้ เป็นงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลผู้ป่วยในจาก สปสช. และกรมบัญชีกลาง ผู้ป่วยในเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรังโรคใดโรคหนึ่งจาก 5 โรค คือ ความดันโลหิตสูง หลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และหัวใจ หรือเป็นหลายโรคในกลุ่มเดียวกันนี้ การวิจัยได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายปีสุดท้ายก่อนตายของผู้ป่วยเหล่านี้ และพบว่า มีความเหลื่อมล้ำสูงมากในผู้ป่วยที่มีสิทธิสุขภาพต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นโรคในกลุ่มเดียวกัน โดยพบว่า ข้าราชการมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวกว่าประชาชนทั่วไป ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าถึง 13% ทั้งนี้ การที่อายุเฉลี่ยของข้าราชการยืนยาวกว่า อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ มาอธิบายได้ด้วย นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาล เช่น มีอาชีพที่เป็นพิษภัยกับสุขภาพต่ำกว่า มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพส่วนตัวมากกว่า มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า เป็นต้น

ดร.วรวรรณ กล่าวต่อว่า งานวิจัยยังพบว่า ผู้ป่วยในที่เป็นประชาชนทั่วไปมีอาการของโรครุนแรงกว่าเมื่อเข้ารับการรักษาในช่วงปีสุดท้ายก่อนตาย และมีบางรายที่เข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรกในช่วง 5 ปีก่อนตาย ซึ่งอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการรอดต่ำเมื่อเข้ารับการรักษา ขณะที่ข้าราชการมีการเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึงกว่า ซึ่งการที่มีรายได้สูงกว่า มีบำเหน็จบำนาญ ก็ทำให้มีความสามารถในการเดินทางมารักษาได้ดีกว่าด้วย ดังนั้น การที่ผลที่ได้จากงานวิจัยระบุว่า สิทธิข้าราชการมีอัตราการตายต่ำกว่าสิทธิอื่นนั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลได้ว่า เป็นเพราะสิทธิอื่น ซึ่งในที่นี้คือสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ สปสช.ดูแลอยู่มีการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือที่มีการนำงานวิจัยไปอ้างว่า เป็นเพราะการรักษาแบบเหมาโหลทำให้ผู้ป่วยบัตรทองตายมากกว่าสิทธิข้าราชการนั้น ก็เป็นการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง เนื่องจากต้องคำนึงถึงตัวแปรหรือปัจจัยอื่นๆ อีกมาก เรียกได้ว่าการเอางานวิจัยนี้ไปอ้างเพื่อสรุปผลบางอย่างนั้น เป็นการบีบบังคับข้อมูลที่มีอยู่เล็กน้อยให้ตอบคำถามที่มากเกินไป

“ข้อมูลของ สปสช. และกรมบัญชีกลาง ทำให้การวิจัยสามารถวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของการได้รับการรักษาของประชาชนได้ ทั้งนี้ก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น การเก็บข้อมูลไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ทำให้การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำนี้จะกระทำมิได้เลย ดังนั้น การจะเปรียบเทียบว่าก่อนมีประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความเหลื่อมล้ำหรือความเป็นธรรมทางสุขภาพเป็นอย่างไร เราไม่ทราบ มันอาจจะแย่กว่านี้หรือดีกว่านี้ เราไม่สามารถสรุปได้ สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ การวิจัยเพื่อพัฒนา เราน่าจะมาช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้ให้ค่อยแคบลงเรื่อยๆ จะดีกว่า” ดร.วรวรรณกล่าว