ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 3 จัดประชุมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง ท้องถิ่น ภาคประชาชน และ รพ. ร่วมขับเคลื่อนทีมหมอครอบครัวอย่างยั่งยืนด้วยกัน “หมอสุขุม” ผู้ตรวจเขต 3 เผย มีทีมหมอครอบครัวในเขต 3 เกือบ 4 พันทีม ครอบคลุมระดับอำเภอ ตำบล และชุมชน ให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกือบ 30,000 รายได้รับการดูแล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทีมสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล หมออนามัย อสม. ร่วมกับ อบต.-เทศบาลในพื้นที่

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมไอยรา เลค โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ท จ.อุทัยธานี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 เป็นประธานในพิธิเปิดการประชุมสัมมนาการจัดการความรู้หมอครอบครัวระหว่างบุคลากร ประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็นการเดินหน้าทีมหมอครอบครัวในเขตสุขภาพที่ 3 โดยมีตัวแทนจากสถานพยาบาลทุกระดับ อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต./เทศบาล ภาคประชาชนและสื่อมวลชนท้องถิ่น รวมกว่า 200 คน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

นพ.สุขุม กล่าวว่า การดำเนินการทีมหมอครอบครัวในเขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร และ พิจิตร มุ่งเน้นตามนโยบายทีมหมอครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คือให้ครอบครัวและชุมชนได้รับการดูแลครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในสถานพยาบาลและที่บ้านอย่างใกล้ชิดดุจญาติมิตร ปัจจุบันเขตสุขภาพที่ 3 มีทีมหมอครอบครัว 3,537 ทีม แบ่งเป็นระดับอำเภอ 236 ทีม ตำบล 644 ทีม และชุมชน 2,657 ทีม ซึ่งในระยะแรกจะให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการติดบ้าน ติดเตียง และจะขยายงานให้ครอบคลุมทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสุขภาพ

“การจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง โรงพยาบาลแต่ละระดับ ร่วมกับ อบต./เทศบาลในพื้นที่ และภาคประชาชนภายในเขตสุขภาพที่ 3 ครอบคลุม 5 จังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทีมหมอครอบครัวไปด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการเดินหน้านโยบายหมอครอบครัวในระดับปฏิบัติการอย่างยั่งยืนได้มากที่สุด ครอบครัวทราบว่าใครเป็นหมอดูแลเขา ที่จะให้คำปรึกษา ดูแล สร้างความคุ้นเคยกัน จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นให้กับสถานบริการใกล้บ้าน ซึ่งทั้งหมดเกิกจากการทำงานเป็นทีมของสหวิชาชีพ อสม. ร่วมกับ อบต./เทศบาล” ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 3 กล่าว

ด้าน นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 3 กล่าวว่า ทีมหมอครอบครัวนั้น จะมาจากบุคลากรทางด้านสุขภาพในระดับต่างๆ ตั้งแต่ชุมชน ตำบล อำเภอและจังหวัด ทำงานร่วมกันเป็นทีม ดูแลและส่งต่อปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างใกล้ชิด ทันท่วงที เหมือนมีหมอประจำครอบครัวอยู่ใกล้บ้าน รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว โดยในตำบล จะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ ในการเดินหน้านโยบายสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยพยาบาล หมออนามัย สหวิชาชีพต่างๆ รวมทั้ง อสม. ในพื้นที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน  ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระยะแรก ก็พบว่า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ รวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง รวมเกือบ 30,000 ราย ได้รับการดูแลรักษาจากทีมหมอครอบครัว ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว