ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จับมือคมนาคม ท่องเที่ยวและกีฬา พัฒนาส้วมสถานีรถไฟในแหล่งท่องเที่ยว รองรับปีท่องเที่ยววิถีไทย เริ่มในแหล่งท่องเที่ยวแนะนำ 77 สถานี เผยสำรวจพบพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะไม่ถูกต้อง เช่น ใช้เท้าเหยียบบนที่นั่ง ยกที่รองนั่งขึ้นแล้วขึ้นไปเหยียบ หลังใช้ส้วมไม่ใช้น้ำชำระและไม่ล้างมือ เร่งส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง ลดการแพร่เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ตนเองและผู้อื่น

​วันนี้ (17 มิถุนายน 2558) ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ส้วมรถไฟสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว” พัฒนาส้วมในสถานีรถไฟในแหล่งท่องเที่ยวให้ผ่านมาตรฐานส้วมสาธารณะและมาตรฐานส้วมสาธารณะสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว รองรับปีท่องเที่ยววิถีไทยของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าสร้างรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ดำเนินการพัฒนาส้วมสาธารณะไทยตั้งแต่ปี 2548 เน้นให้ส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน 3 ด้านคือสะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) ปลอดภัย (Safety) หรือ HAS โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง ปัจจุบันมีส้วมสาธารณะทั่วประเทศผ่านมาตรฐานร้อยละ 70 สำหรับการพัฒนาส้วมรถไฟ เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ขณะนี้มีส้วมของสถานีรถไฟได้ผ่านมาตรฐาน HAS ของกรมอนามัย แล้ว 251 สถานี จาก 443 สถานี คิดเป็นร้อยละ 57

โดยกระทรวงสาธารณสุขกับได้ร่วมกระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งรัดพัฒนาส้วมสถานีรถไฟในแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ ให้สะอาดได้มาตรฐาน HAS พร้อมให้บริการทุกสถานี เพื่อรองรับปีการท่องเที่ยววิถีไทยตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเริ่มที่สถานีรถไฟในแหล่งท่องเที่ยวแนะนำ 77 สถานี อาทิสถานี จ.ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช, บุรีรัมย์, ราชบุรี, ลำปาง และสมุทรสงคราม ตั้งเป้าพัฒนาให้แล้วภายใน 150 วัน เริ่มจากสถานีหัวลำโพงเป็นที่แรก ส่วนส้วมบนขบวนรถไฟ กรมอนามัยได้สำรวจสุขาภิบาลรถไฟและคุณภาพสิ่งแวดล้อมบนรถนอนชั้น 1ปรับอากาศ เพื่อการรถไฟจะได้นำข้อมูลจากการสำรวจไปปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 กรมอนามัยสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับส้วมสาธารณะพบส้วมสาธารณะที่ประชาชนเลือกใช้บริการมากที่สุด คือ ส้วมในห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้าร้อยละ 48 ส้วมสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 46 และส้วมแหล่งท่องเที่ยวร้อยละ 39 ประชาชนเลือกใช้ส้วมสาธารณะคำนึงถึงความสะอาดถึงร้อยละ 81 ส้วมสาธารณะที่ควรปรับปรุงมากที่สุดคือส้วมตลาดสด ร้อยละ 50 ส่วนพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะพบว่าประชาชนเลือกใช้ส้วมประเภทนั่งยองร้อยละ 51 ส้วมนั่งราบร้อยละ 49 ส่วนพฤติกรรมการใช้ส้วมนั่งราบพบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คือ ใช้เท้าเหยียบบนที่นั่ง ร้อยละ 4 ยกที่รองนั่งขึ้นแล้วขึ้นไปเหยียบร้อยละ 6 หลังใช้ส้วมสาธารณะ ไม่ใช้น้ำชำระร้อยละ 14 โดยให้เหตุผลว่าสายฉีดน้ำชำระไม่สะอาด ไม่ล้างมือหลังใช้ส้วมพบร้อยละ 0.2 

กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์การใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกวิธี ขอความร่วมมือประชาชนไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม และราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งหลังจากใช้ส้วม เพื่อสุขลักษณะที่ดี ลดการแพร่เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ตนเองและผู้อื่น