ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ดร.ณัฐนันท์” ทีดีอาร์ไอ แจงมีการนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดการกองทุน 30 บาทของ สปสช. หวั่น ความเข้าใจผิดและมองปัญหาไม่ถูกประเด็น จะทำให้สังคมเข้าใจผิดและคัดค้านระบบหลักประกันสุขภาพ เสนอจัดเวทีอภิปราย การจัดการกองทุน 30 บาท เพื่ออภิปรายบนฐานข้อมูลและการวิเคราะห์บนฐานวิชาการที่ถูกต้อง

ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร

ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีการจัดทำและที่มาของงบประมาณ ความสับสนระหว่าง งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับงบประมาณของ สปสช. การขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) การดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพ และการวิเคราะห์ทางสถิติ

จึงได้เขียนบทความเรื่อง ข้อคิดเห็นบางประการต่อบทวิจารณ์โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอแล้ว(ดู ที่นี่) สาเหตุที่เขียนคือ ต้องการนำเสนอข้อมูลอีกด้าน ให้สังคมได้รับทราบ ที่สำคัญคือ ค่อนข้างกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมาก  ทั้งที่นี่เป็นเรื่องของสิทธิสุขภาพที่รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชน การให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และคิดว่าระบบนี้เป็นภาระของประเทศ ทั้งที่ไม่ใช่ และมีการมองเรื่องนี้อย่างผิดประเด็นไปมาก เรียกได้ว่า ตั้งสมมติฐานผิด ทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาด

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เช่น ที่บอกว่างบประมาณหลักประกันสุขภาพมาจากงบประมาณของรัฐบาลล้วนๆ ไม่ได้มาจากกระเป๋าเงินของประชาชนแม้แต่บาทเดียว ก็ถูกครึ่งเดียว คือจริงที่งบประมาณหลักประกันสุขภาพมาจากงบประมาณของรัฐบาลล้วนๆ เหมือนกับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ถือเป็นประกันสุขภาพชั้นเยี่ยม แต่นี่ก็เป็นภาษีที่มาจากประชาชน การที่บอกว่าไม่ได้มาจากกระเป๋าเงินของประชาชน จึงเป็นคำกล่าวที่ค่อนข้างสับสน เพราะงบประมาณรัฐ ก็มาจากการเก็บภาษีจากประชาชนทุกคนนั่นเอง

ส่วนการพูดถึงปัญหา รพ.ขาดทุน โดยระบุว่า การเปิดคลินิกพิเศษของ รพ.รัฐหลายแห่ง เช่น รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เป็นไปเพื่อชดเชยการขาดทุนของ รพ.ที่เกิดจากระบบ 30 บาทนั้น ข้ออ้างนี้ยังขาดหลักฐานและข้อมูลที่จะสรุปได้ว่าโครงการ 30 บาททำให้แต่ละ รพ.ขาดทุน เท่าไหร่ ขณะเดียวกันการที่ใช้ค่าบริการที่ รพ.เรียกเก็บจาก สปสช.มาพิจารณาผลกำไรขาดทุนของ รพ.ก็เป็นการตั้งสมมติฐานที่ผิด ค่ารักษาที่ รพ.เรียกเก็บ (charge) เป็น “รายได้พึงหวัง” ไม่ใช่ “รายได้พึงได้” และเป็นการคิดจาก รพ.ฝ่ายเดียว

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวต่อว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การจ่ายเงินในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น สำหรับผู้ป่วยนอกจ่ายแบบเหมาจ่าย ส่วนผู้ป่วยในจ่ายแบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRGs ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศและช่วยควบคุมให้การรักษาพยาบาลของ รพ.เป็นไปอย่างจำเป็นและพอเพียงผ่านการคำนวณน้ำหนักสัมพัทธ์ (relative weight) ดังนั้นการคำนวณโดยนำเงินที่พลาดหวังไปบันทึกว่าเป็นหนี้เสีย แล้วคิดไปเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ รพ.ขาดทุนนั้น จึงไม่ใช่การคำนวณที่ถูกต้อง ทั้งยังไม่ได้สะท้อนถึงแนวคิดพอเพียงตามที่ผู้เขียนบทความ (ดู ที่นี่) อ้างอิงมาโดยตลอดด้วยซ้ำ

“ยิ่งไปกว่านั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถวิเคราะห์หาต้นทุนที่แท้จริงในการรักษาพยาบาลว่าผู้ป่วยสิทธิใดมีต้นทุนต่อหัวเท่าไหร่ ในเมื่อยังไม่มีใครทราบต้นทุนที่แท้จริงแล้วจะทราบได้อย่างไรว่ากองทุนใดเป็นสาเหตุของการขาดทุนของ รพ.หนึ่งๆ หรือไม่ เท่าไหร่ ซึ่งรายได้หลักของ รพ.มาจาก 4 แหล่ง คือ 1.ระบบ 30 บาท 2.ประกันสังคม 3.สวัสดิการข้าราชการ 4.ผู้ป่วยจ่ายเอง และคำถามที่ควรคิดต่อคือ หากบอกว่า รพ.รัฐขาดทุนเพราะระบบ 30 บาท แล้วทำไมยังมี รพ.เอกชนหลายแห่งเข้าร่วมอยู่ในระบบนี้อยู่ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า รพ.เอกชนใส่ใจต่อเรื่องต้นทุนและผลกำไรขาดทุนมากกว่า รพ.รัฐหลายเท่าด้วย”

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุต่อว่า มีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเสนอเรื่องแบบจำลองพยากรณ์ค่าใช้จ่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. ก็พบว่ามีการใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และมีความเข้าใจผิดทางสถิติ เช่น การพยากรณ์ค่าใช้จ่ายต่อหัว ที่ขาดตัวแปรสำคัญคือ จำนวนผู้มีสิทธิที่อาจเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี ขณะเดียวกันการนำผลการวิเคราะห์แนวโน้มมาใช้พยากรณ์นั้นยังเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการทางสถิติอย่างมาก เพราะแนวโน้มเป็นเพียงตัวบ่งชี้คุณลักษณะหนึ่งของข้อมูลแต่ไม่ใช่ตัวกำหนด ขณะที่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นที่เป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายรวมกองทุน 30 บาท อาทิ นโยบายของรัฐที่ในหลายปีแช่แข็งงบไว้ และโครงสร้างต้นทุนอันเป็นที่มาของค่าใช้จ่ายต่อหัว การใช้แต่ผลจากการวิเคราะห์แนวโน้มจึงมีโอกาสผิดพลาดสูงแม้ว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จะสูงถึงเกือบ 1 ก็ตาม

“ผมคิดว่าการช่วยกันตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ดีและควรกระทำ แต่หากอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ผิดและวิธีการวิเคราะห์ที่คลาดเคลื่อนแล้ว การตรวจสอบนั้นจะกลายเป็นเพียงการกล่าวหาและส่งผลร้ายมากกว่าผลดี ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารนโยบายเองคงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆ นั้นมีข้อมูลและผลการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด” ดร.ณัฐนันท์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และอภิปรายตามหลักวิชาการ และบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง อยากเสนอให้ หน่วยงานที่เป็นกลางจัดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนร่วมกับนักวิชาการที่กรุณาเขียนบทความท้วงติงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาโดยตลอด พร้อมเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีอภิปรายนี้ด้วย ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาต้องการเอาชนะ แต่ต้องการแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันเพื่อการสื่อสารข้อมูลบนพื้นฐานที่ถูกต้องเท่านั้น

ทั้งนี้ ดูบทความฉบับเต็มได้ที่ TDRI