ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยอาการผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ที่รับตัวไว้ดูแลในห้องแยกโรคสถาบันบำราศนราดูร แนวโน้มอาการดีขึ้น ติดตามนำผู้สัมผัสเข้าสู่ระบบ ขอประชาชนอย่าตระหนก ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ผู้มีโรคประจำตัวหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (19 มิถุนายน 2558) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือเมอร์ส ว่า ในวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันให้ประชาชนปลอดภัย สถานการณ์ในประเทศขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง 1 ราย ในวันนี้แนวโน้มอาการดีขึ้น ยังพักรักษาตัวในห้องแยกโรค ส่วนการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ ได้นำผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทุกคน รับไว้สังเกตอาการในพื้นที่ที่เตรียมไว้รองรับ ขณะนี้อยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร 3 คน เป็นญาติผู้ป่วย ส่วนผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำ ติดตามได้ทั้งหมด แนะนำให้แยกตัวเอง ลดการสังคมกับผู้อื่น และติดตามทางโทรศัพท์เป็นเวลา 14 วัน ส่วนข่าวลือที่ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้เดินทางจากเกาหลี ผลการตรวจครั้งแรกเป็นลบ รอตรวจยืนยันอีกครั้ง

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค และสอบสวนโรค ดังนี้ 1.การเฝ้าระวังที่ช่องทางเข้า-ออกประเทศ ทางอากาศได้ประสาน 37 สายการบิน ประกาศเตือนผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ แจกเอกสารการปฏิบัติตัว เมื่อมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีโดยเอกสารมี 3 ภาษาคือ อาหรับ อังกฤษและเกาหลี ติดตั้งเครื่องวัดไข้อัตโนมัติ กำหนดหลุมจอดเครื่องบินจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อง่ายต่อการควบคุมโรค ส่วนช่องทางบก ทางเรือ ก็ดำเนินการคัดกรองด้วยเครื่องวัดไข้ และแจกเอกสารเช่นเดียวกัน 2.การเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล ได้กำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ติดป้ายเตือนประชาชนและเจ้าหน้าที่ จัดจุดแจกหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ จัดจุดตรวจรักษาแบบช่องทางด่วน แบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ไม่ปะปนกับผู้ป่วยอื่นๆ

3.เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยขณะนี้ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 14 แห่ง ในภูมิภาค และมีของมหาวิทยาลัย 4.การติดตามผู้สัมผัสโรค แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงสูง ต้องรับตัวไว้สังเกตอาการโดยเตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้ว ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำแนะนำให้แยกตัวอยู่บ้าน ลดการสังคมกับผู้อื่น และมีระบบติดตามทางโทรศัพท์ 14 วัน

สำหรับประชาชน อย่าได้ตระหนก ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด สำหรับประชาชนทั่วไป หากเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดขอให้อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วยและหากกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน หากมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ให้ไปพบแพทย์ทันที ความร่วมมือประชาชนจะทำให้ประเทศเราควบคุมโรคนี้ได้ หากมีข้อสงสัยข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง