ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในนโยบายสำคัญของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันอย่าง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.ที่เชื่อกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูปคือ นโยบายทีมหมอครอบครัว ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แรกเริ่มเดิมทีมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ทีมหมอครอบครัวนี้ เป็นนโยบายพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ระบบสาธารณสุขของไทย ถึงขั้นเกือบจะระบุกันแล้วว่า นี่เป็นจังหวะก้าวที่สองของการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย หลังจากเมื่อครั้งปฏิรูปยกที่หนึ่งไปแล้วเมื่อปี 2544 กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวนโยบายหมอครอบครัวแล้ว ถือเป็นนโยบายที่ดี โดยนัยยะของมันคือการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ และไทยก็มีอังกฤษ หนึ่งในประเทศต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นแม่แบบหมอครอบครัว

อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้ามา 6 เดือน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือ นอกจากประกาศผลสำเร็จเรื่องสร้างทีมหมอครอบครัวแล้ว ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะพัฒนาไปอย่างไรต่อ สำหรับประชาชนในเขตเมือง ได้ประโยชน์อย่างไรจากทีมหมอครอบครัวยังมองไม่เห็น ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชนบท อาจจะงงๆ กับหมอครอบครัว และทีมเยี่ยมบ้าน และยังไม่แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วปฏิบัติตัวอย่างไร และเมื่อผนวกเข้ากับความไม่มีเสถียรภาพของการบริการงานในกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้จะเด็ดหัวตัวพ่ออย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเดินสายออกพบปะเครือข่ายในบางเวลาอยู่ขณะนี้แล้ว แต่คลื่นใต้น้ำก็ยังกระเพื่อมไม่หยุดหย่อน

จึงเกิดเป็นคำถามด้วยความห่วงใย ว่าเมื่อการรับรู้เรื่องนโยบายยังไม่ชัด ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ยังไม่ยอมรับ บ้างถึงขั้นแข็งข้อ แม้จะมีบางพื้นที่ที่เข้มแข็งก่อนมีนโยบายนี้เป็นต้นแบบคอยขับเคลื่อน เช่น โมเดลลำสนธิ จ.ลพบุรี และโมเดลแก่งคอย จ.สระบุรี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าได้จนถึงขั้นปฏิรูประบบสุขภาพไทยยกที่สองได้ และแน่นอน ท่ามกลางความห่วงกังวลของนโยบายนี้ ประการสำคัญ คือ เมื่อเจ้ากระทรวงทั้ง 2 คนพ้นอำนาจไปแล้ว ทีมหมอครอบครัวจะยั่งยืนหรือไม่ หรือเงียบหายไปตามเจ้าของนโยบาย เฉกเช่นเดียวกับนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ ที่ผ่านมา

จากข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษหรือซีรีส์ตอน ปฏิรูปสุขภาพยกสองด้วย หมอครอบครัว จะไปถึงฝัน หรือ แป้ก !

ตอนที่ 1 ‘หมอครอบครัว’ เหล้าเก่าในขวดใหม่ พิสูจน์ฝีมือ รมต.สธ. ต่อยอดระบบปฐมภูมิ

ตอนที่ 2 หนุนหมอครอบครัว เชื่อเป็นพลังเดินหน้าปฐมภูมิ แต่หวั่นไม่ยั่งยืน

ตอนที่ 3 นโยบายหมอครอบครัว อืดเหมือนมวยไม่ยอมออกหมัด

ตอนที่ 4 หมออนามัยย้ำ อย่าเพิ่งหวังผล หลายพื้นที่ไม่พร้อมเหมือนต้นแบบ แนะเพิ่มคน-งบ

ตอนที่ 5 โมเดล ‘ลำสนธิ’ 10 ปี พลิกงานเยี่ยมบ้าน สู่การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง

ตอนที่ 6 แนะทำหมอครอบครัวตามความพร้อมรายพื้นที่ จี้เดินหน้าเขตสุขภาพตอบโจทย์กว่า

ตอนที่ 7 หมอครอบครัวจะสำเร็จ ต้องปรับระบบให้ชัดเจน จัดโครงสร้างรองรับ

ตอนที่ 8 แนะดึงคลินิกเอกชนหนุนหมอครอบครัว อุดช่องว่างพื้นที่ กทม.

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 9 (จบ) 6 เดือน ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้า กทม. เชื่อเป็นนโยบายยั่งยืน

“หมอประสิทธิ์ชัย” วิเคราะห์นโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” 6 เดือนจัดตั้งทีมครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมดันต่อพื้นที่ กทม.และเมืองใหญ่ อุดช่องว่างการเข้าถึง พร้อมเดินหน้านโยบาย เน้นให้ความสำคัญต่อทุกคนในทีม ทั้งแพทย์ พยาบาล หมออนามัย อสม. และชุมชน ตามบริบทสังคมไทย เชื่อเป็นนโยบายยั่งยืน เหตุประชาชนได้ประโยชน์ แจงวัตถุประสงค์หมออนามัยทำคลิปวิดิโอหมอครอบครัว เพื่อให้เห็นผลงานและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร

ภายหลังจากที่นโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” ได้ประกาศเดินหน้าอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ภายใต้การนำของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข นับเป็นนโยบายที่ถูกชูเป็นผลงานเด่นของกระทรวงสาธารณสุขในยุคนี้ จนถึงขณะนี้การดำเนินงานได้ต่อเนื่องมา 6 เดือนแล้ว โดยล่าสุดได้มีการสรุปความสำเร็จในการจัดตั้งทีมหมอครอบครัวร่วม 60,000 ทีมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

แต่จากการดำเนินนโยบายนี้ยังมีคำถามอยู่มากทั้งในด้านความชัดเจนของทีมหมอครอบครัว ความยั่งยืน ตลอดจนการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการดำเนินนโยบายช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในประเด็นเหล่านี้สำนักข่าว Health focus ได้สัมภาษณ์ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการ รพ.แก่งคอย ในฐานะผู้รับมอบให้ดูภาพรวมการผลักดัน นโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” กระทรวงสาธารณสุข 

นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายนี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาทำได้ดี เพราะทำให้เกิดการรับรู้และตอบรับในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและเข้ามีส่วนร่วมผลักดันตั้งแต่ระดับผู้บริหารทุกกรมกอง โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ท้องถิ่น ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และประชาชน ซึ่งต่างเข้าใจในนโยบายนี้มากขึ้น และนำมาสู่การขยายจัดตั้งทีมหมอครอบครัวทั่วประเทศร่วม 60,000 ทีม จำนวนนี้เป็นทีมที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงไปทำงานกับชุมชนชัดเจน 50,300 ทีม นอกนั้นเป็นทีมที่เริ่มจัดตั้งกันเองในระดับตำบล อำเภอและชุมชน เมื่อดูภาพรวมการดำเนินนโยบายโดยตัดพื้นที่ กทม.ออก ต้องบอกว่าขณะนี้ทีมหมอครอบครัวครอบคลุม โดยต่างมีพื้นที่รับผิดชอบชัดเจนในการดูแลประชาชน 3 กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเบื้องต้นได้แก่ 1.ผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือเรียกว่า ติดเตียง 2.ผู้พิการ และ 3.ผู้ป่วยระยะสุดท้าย  

ส่วนพื้นที่ กทม.และเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ นั้น นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า ยังเป็นพื้นที่จุดอ่อนของการดำเนินนโยบายนี้ โดยเฉพาะใน กทม. เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษ เพราะมีประชากรอยู่เป็นจำนวนมากถึง 12 ล้านคน แต่มีทะเบียนบ้านเพียงแค่ 5.1 ล้านคน ที่เหลือเป็นประชากรย้ายถิ่น นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยเป็นพื้นฐานเฉพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมีเนียม บ้านจัดสรรทั้งในรูปแบบทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว ทำให้การเข้าถึงของทีมหมอครอบครัวจึงเป็นไปได้ยากกว่า ต่างกับพื้นที่ต่างจังหวัดที่เป็นลักษณะเปิด ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่เข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้โครงสร้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ยังมีรูปแบบที่ต่างไป ทำให้การดำเนินงานทีมหมอครอบครัวนี้ต้องมีการจัดในรูปแบบที่แตกต่าง โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น กทม. สำนักการแพทย์ กทม. ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลศิริราช และคลินิกเอกชนกว่า 100 แห่ง มาร่วมกันทำงานนี้

“ก่อนหน้านี้ กทม.ได้มีการดำเนินงานไปแล้ว เพียงแต่ในบ้างพื้นที่ยังมีปัญหาการเข้าถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีลักษณะปิด โดยนโยบายทีมหมอครอบครัวจะเข้าไปช่วยเสริมในส่วนที่ยังเป็นช่องว่างอยู่” นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าว และว่า ส่วนพื้นที่เมืองใหญ่บางจังหวัดนั้น มีปัญหาเช่นเดียวกับพื้นที่ กทม. แต่มีความแตกต่างและดำเนินงานได้ง่ายกว่า เพราะยังเป็นเขตสาธารณสุขของ สธ. มีโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ที่ชัดเจน ทำให้ง่ายต่อการจัดตั้งทีมและดำเนินงาน

ขณะที่การดำเนินนโยบายทีมหมอครอบครัวซึ่งถูกมองว่าเป็นนโยบายผิดทิศผิดทาง เนื่องจากเป็นการเน้นที่หมออนามัย ซึ่งโดยหลักการต้องเป็นแพทย์นั้น นพ.ประสิทธิ์ชัย ชี้แจงว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าบริบทของประเทศไทยยังไม่เอื้อ แพทย์ในระบบยังมีไม่เพียงพอ ต่างจากอังกฤษและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่มีแพทย์จำนวนมาก จึงให้แพทย์เป็นหลักในการดำเนินงาน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึงจึงต้องมีการปรับใช้ อีกทั้งเรามีต้นทุนที่ดีคือหมออนามัยและ อสม. พร้อมเน้นการดำเนินงานเป็นทีม ตรงนี้ก็ช่วยกันดูแลประชาชนได้ ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบต่างประเทศทั้งหมด แต่หากในอนาคตเรามีแพทย์เพียงพอก็สามารถปรับได้อีก

“ทีมหมอครอบครัว เราไม่อยากให้ใครเป็นพระเอก แต่ต้องการให้การการทำงานเป็นทีม หมอก็มีความสำคัญ หมออนามัย อสม. ตลอดจนผู้นำชุมชนก็มีความสำคัญ ท้ายที่สุดเราไม่ได้บอกว่าใครสำคัญ แต่สำคัญตรงที่เราได้ช่วยดูแลผู้ป่วย ได้ช่วยชาวบ้าน ดังนั้นจึงไม่อยากให้ตั้งคำถามว่าเรื่องนี้ใครสำคัญ แต่พยายามชูประเด็นว่าทุกคนต่างมีความสำคัญหมดที่เป็นหัวใจสำคัญของทีมหมอครอบครัว” นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีทีมหมอครอบครัวในการเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วย ดูแลสุขภาพประชาชน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเน้น คือประชาชนยังคงต้องดูแลตนเอง ดูแลครอบครัวและชุมชนก่อน โดยทีมหมอครอบครัวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยเสริมเท่านั้น  

ที่ผ่านมามีการพูดถึงปัญหาบุคลากรและงบประมาณในการสนับสนุนดำเนินงานทีมหมอครอบครัว นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า ในเรื่องบุคลากรยอมรับว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะในส่วนของหมออนามัยที่ประจำ รพ.สต. ที่ต้องทำงานเยอะมาก และทุกหน่วยงานต่างมุ่งเป้าไปยังหมออนามัยเพราะเป็นเป้าหมายสุดท้ายในการดูแลประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินนโยบายทีมหมอครอบครัวเพื่อดึงชุมชนและประชาชนเข้ามาช่วยเสริมในการทำงาน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเสนอเพื่อให้มีการเพิ่มเติมบุคลากรใน รพ.สต.ด้วย เพื่อให้นโยบายนี้มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการดูในเรื่องความก้าวหน้า ค่าตอบแทน  เพื่อให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน เช่นเดียวกับงบประมาณ ซึ่งในอนาคตคงต้องมีการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุน แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะประเทศมีหลายเรื่องที่ต้องพัฒนา

ส่วนกรณีประกาศสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ปรับเปลี่ยนการบรรจุนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) และเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบต่อขวัญกำลังใจหมออนามัยและอาจกระทบต่อการดำเนินนโยบายทีมหมอครอบครัวนั้น ขณะนี้ทาง สธ.ได้ประสานและหารือกับทาง ก.พ.อยู่ เรื่องนี้คงต้องคุยกัน

ความยั่งยืนของนโยบายทีมหมอครอบครัวเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งคำถาม นพ.ประสิทธิ์ชัย เห็นว่า เนื่องจากเป็นนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์ หากเราทำให้ทุกคนเห็นผลลัพธ์ที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี สภาพแวดล้อมดีขึ้น พร้อมดึงทุกฝ่ายลงมาช่วยกันทำที่เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม เชื่อว่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้นโยบายมีความยั่งยืน อีกทั้งบริบทสังคมไทยมีวัฒนธรรมเน้นการดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งอยู่แล้ว ที่ผ่านมาแม้ สธ.จะไม่มีการประกาศนโยบายนี้ หลายพื้นที่ก็ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่การประกาศทำให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น  ดังนั้นแม้ว่ารัฐมนตรีในยุคนี้จะหมดวาระลง แต่นโยบายและทีมหมอครอบครัวก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป  

ต่อข้อซักถามว่าที่ผ่านมามีการเสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันหรือกรมเพื่อดูแลงานระบบปฐมภูมิที่เป็นงานหมอครอบครัวโดยเฉพาะ นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า ตามหลักการก็ควรมีหน่วยงานกลางเพื่อดูแลงานปฐมภูมิโดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมา สธ.มีกรมต่างๆ ในการทำงานดูแลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น แต่ยังไม่มีหน่วยงานที่ดูในเรื่องปฐมภูมิโดยเฉพาะ ทำให้ขาดการบูรณาการในภาพรวม ซึ่งนโยบายทีมหมอครอบครัวจำเป็นต้องมีการดูแลจากส่วนกลางเพื่อกำหนดทิศทาง โดยในอนาคตจะต้องเดินหน้าในงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นต่างคนต่างทำ ดังนั้นจึงต้องมีโครงสร้างรองรับที่ชัดเจน และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อเสนออยู่

นอกจากนี้ นพ.ประสิทธิ์ชัย ยังได้ชี้แจงถึงกรณีที่ สธ.มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ร่วมกันทำคลิปวิดิโอการดำเนินงานทีมหมอครอบครัวว่า เราไม่อยากหลอกกันว่าทีมหมอครอบครัวดูแลคนไข้กี่คน ดีขึ้นกี่คน นี่คือประเด็น และทำอย่างไรให้รู้ว่าเขาทำงานจริง ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่การทำคลิป แต่สามารถทำเป็นสไลด์นำเสนอ หรือเรื่องเล่าก็ได้ แต่เมื่อมีตัวอย่างหนึ่งก็ทำให้ทีมอื่นๆ อยากทำกันบ้าง โดยเนื้อหาที่ต้องการเน้นให้เขารู้กระบวนการมีส่วนร่วม โดยผลงานที่ส่งมาที่กระทรวงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือต้องการใหเขาเห็นผลลัพธ์การดำเนินทีมหมอครอบครัวของเขาเอง ทำให้มีกำลังใจ ในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจไปยังทีมอื่นๆ ด้วย  

“เราไม่ได้ต้องการให้เขาทำผลงานส่งจังหวัดหรือส่งรัฐมนตรี แต่อยากให้เขาได้เห็นผลงานของทีมตนเอง ก่อนส่งงานนี้จะต้องทำงานกันก่อน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม ส่วนที่มองว่าเป็นภาระงานเรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจกันไป แต่การทำตรงนี้อย่างไรเขาได้อยู่แล้ว” นพประสิทธิ์ชัย กล่าว

นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินนโยบายทีมหมอครอบครัวจากนี้คงต้องมีการประเมินงานเป็นระยะ ซึ่งความสำเร็จของนโยบายจะวัดได้จากกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเบื้องต้นได้รับการดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ความสัมพันธ์ภายในชุมชนและ รพ.สต.ในการดูแลช่วยเหลือ เหล่านี้จะทำให้นโยบายทีมหมอครอบครัวมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต