ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ดร.อานนท์” นักวิชาการจากนิด้า ท้า 'ทีดีอาร์ไอ' เปิดงานวิจัยศึกษาผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพฉบับเต็ม พิสูจน์ ตีความผู้ป่วยบัตรทองใน 5 โรคเรื้อรัง เสียชีวิตมากกว่าสิทธิข้าราชการถึง 70 % จริงหรือไม่

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่า หลังจากที่ตนเขียนบทความที่อ้างอิงจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เรื่องโครงการศึกษาผลลัพธ์ทางสุขภาพ และความเป็นธรรมทางสุขภาพ ที่พบว่าปี 2550-2554 ผู้สูงอายุ 60 ปี สิทธิบัตรทอง ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง จะเสียชีวิตในหนึ่งปีมากกว่าสิทธิข้าราชการถึง 70,000 กว่าคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อุบัติเหตุหลอดเลือดในสมอง และมะเร็ง จะเสียชีวิตมากผิดปกติ ต่างจากโรคอื่น 30,000 กว่าคน ทั้งนี้การเขียนบทความก็เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขป้องกันหยุดการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ซึ่งดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กลับไม่ยอมรับในเรื่องนี้ และมีการออกข่าวว่าเป็นปัญหาในเรื่องการตีความงานวิจัย

“อัตราการเสียชีวิตที่มากกว่า 70% ในบางโรคเช่นนี้ ถือว่ามีความผิดปกติ ผมมองว่าจำเป็นต้องหยุดการดำเนินการของสปสช.ก่อนที่จะหาสาเหตุ นั่นคือหยุดการซื้อยาแบบเหมาโหล ซึ่ง สปสช.ได้รับงบประมาณปีละแสนกว่าล้านบาท โดยหักเงิน 30% มาเพื่อซื้อยาแบบเหมา และบังคับแพทย์ให้รักษาคนไข้ด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ จึงจะได้เงิน จึงอยากให้ สปสช.หยุดกระบวนการนี้ไว้ก่อน และหาทางแก้ไข เพื่อหยุดการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้” นายอานนท์ กล่าว

ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า สปสช.เป็นผู้ว่าจ้างทำงานวิจัยนี้ แต่ผลออกมาแล้วกลับไม่อยากให้สังคมรับรู้ จึงเลือกเผยแพร่แต่ผลวิจัยที่ดีออกมา อย่างไรก็ตามในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมอภิปรายเรื่องการตีความงานวิจัยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระหว่างนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานต่าง ๆ เช่น นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแแห่งชาติ (สนช.) และผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ส่วนตัวจะขอให้ทีดีอาร์ไอ ส่งข้อมูลผลการวิจัยฉบับเต็มออกมา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเลยว่าตีความผิดจริงหรือไม่.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th