ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ : น.ส.ทัศนา รองประธาน สปช.คนที่ 2 รับยื่นหนังสือจาก เลขาธิการสภาการพยาบาล หวัง สปช. เสนอแก้ความเหลื่อมล้ำภาระงาน ค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในสายอาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ หวั่นเกิดปัญหาขาดแคลนกำลังคน กระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศ

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ที่รัฐสภา เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ นำโดย นางอังคณา สริยาภรณ์ เลขาธิการสภาพยาบาล ยื่นหนังสือต่อ นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 2 กรณีความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุขไทย

นางอังคณา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพยาบาลวิชาชีพ 170,790 คน โดยจำนวน 132,362 คน ปฏิบัติงานในระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งพบว่าโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปมีความต้องการพยาบาลวิชาชีพ 54,474 คน แต่มีอัตรากำลังเพียง 40,326 คน โรงพยาบาลชุมชนมีความต้องการพยาบาลวิชาชีพ 56,627 คนมีอัตรากำลัง 46,181 คน ซึ่งรวมพยาบาลที่ยังขาดในโรงพยาบาลทั้ง 3 ระดับ จำนวน 24,594 คน นอกจากนั้น ตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ต้องการพยาบาลวิชาชีพกว่า 1,000 แห่งยังไม่มีพยาบาล ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนพยาบาล ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งที่ความต้องการพยาบาลมีเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่การเพิ่มกำลังไม่ทันต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งสิ่งที่วิชาชีพการพยาบาลต้องเผชิญมี 3 ลักษณะ คือ

1.ความเหลื่อมล้ำในเรื่องงาน 2.ความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าตอบแทน และ 3.ความเหลื่อมล้ำในด้านการจ้างงานและความก้าวหน้าซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

จึงขอเสนอแนวทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์คือการได้รับสิทธิในการบรรจุเป็นข้าราชการ การกำหนดบันไดอาชีพที่เท่าเทียม ยกเลิกการกำหนดโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำในวิชาชีพ การพิจารณาปรับอัตราค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ควรทบทวนค่าตอบแทนเหมาจ่าย และค่าตอบแทนการปฏิบัติงานตามลักษณะพื้นที่โดยด่วน และปฏิรูประบบบริหารจัดการให้พยาบาลได้ทำหน้าที่พยาบาลได้เต็มศักยภาพ เพื่อคุณภาพการดูและประชาชน

นางสาวทัศนา กล่าวว่า รัฐบาลและ สปช.เองได้ให้ความสำคัญในการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำในสังคม และตนในฐานะที่เป็นพยาบาลวิชาชีพเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุขจะได้นำผลการศึกษานี้ไปวิเคราะห์และผนวกกับรายงานของคณะกรรมาธิการเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป