ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTVผู้จัดการรายวัน - "หมออภิวัฒน์" จี้ สปสช.เลิกครอบงำการรักษาของแพทย์ ซื้อ "ยา-เวชภัณฑ์" เหมาโหล ส่งผลการรักษาผู้ป่วย สาเหตุหนึ่งสิทธิบัตรทองตายสูงกว่า ขรก. ชี้ปรับเกณฑ์ซื้อสายสวนหัวใจหลายยี่ห้อ เพราะถูกหมอหัวใจโวย ด้าน สปสช.แจงซื้อแบบยืดหยุ่นมากขึ้น นักวิจัยทีดีอาร์ไอป้อง สปสช. บอกตีความไปไกล ตายสูงกว่าไม่ได้ แจงฐานข้อมูลต่าง

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการแพร่ผลวิจัยของสถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่พบผู้ป่วยบัตรทองใน 5 โรค มีอัตรา การเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการจำกัดสิทธิการเข้าถึงยา เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักได้ หรือใช้ยาสูตรเฉพาะนอกเหนือจากที่ สปสช.กำหนด และกำหนดวิธีการรักษา เช่น การล้างไตผ่านช่องท้องเป็นวิธีรักษาแรก ซึ่งตรงนี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยทั้งสิ้น แพทย์ไม่มีอิสระในการรักษาผู้ป่วย ทั้งที่การรักษาถือเป็นศิลปะ ผู้ป่วยแต่ละคนมีวิธีการรักษาโรคที่ต่างกัน แต่ผู้ป่วยบัตรทองจะได้รับการรักษาที่เหมือนกัน ทั้งยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยกตัวอย่าง Stent ที่ใช้ในการขยายหลอดเลือดหัวใจ ที่ผ่านมาก็ทำการซื้อแบบเหมาโหลยี่ห้อเดียว บริษัทเดียว

"หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ไม่ส่งเสียงออกมาว่า การซื้อเหมาโหลเช่นนี้ เกิดปัญหา เช่น ใส่ Stent เข้าไปให้คนไข้แล้วหลุด เนื่องจากขนาดไม่พอดีกับหลอดเลือด การที่ สปสช.เหมาโหลซื้อแบบเดียว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นได้ ทั้งที่แพทย์ทำการฉีดสีแล้วทราบว่า Stent แบบไหนที่เหมาะสมกับการรักษาผู้ป่วย หลังจากมีการส่งเสียงออกไป สปสช.จึงค่อยขยายให้มีการใช้ Stent ในการรักษา 2 ยี่ห้อ ช่วยให้ดีขึ้น แต่ถามว่าปัญหาที่ต้นเหตุถูกแก้ไขหรือไม่ ก็เปล่า เพราะยังกำหนดวิธีการรักษาให้แพทย์อยู่เช่นเดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็คงต้องให้แพทย์ทุกด้านค่อยๆ ออกมาส่งเสียง ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่" ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า ยอมรับว่าตัวเลขผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตสูงกว่าจริง แต่ไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากการเหมาโหลซื้อเวชภัณฑ์ อาทิ สายสวนหัวใจได้ ต้องมาดูเหตุผลอื่นประกอบ ที่สำคัญตอนนี้ สปสช.เข้าใจดีว่าการรักษาโรคเป็นศิลปะเฉพาะบุคคล ตอนนี้ก็มีการปรับเกณฑ์ไปเยอะ อย่างสายสวนหัวใจก็อนุมัติให้ รพ.เลือกใช้ได้ประมาณ 2-3 ชนิด เช่นเดียวกับเลนส์แก้วตาเทียมที่ตอนนี้อนุญาตให้ใช้ได้เกือบทุกยี่ห้อแล้ว ยืนยันว่า สปสช.มีการรับฟังอยู่แล้ว และพยายามพบกันตรงกลาง แต่อย่าลืมว่า สปสช.มีงบประมาณจำกัด ต้องดูแลคนเยอะ ดังนั้น ต้องหาคนกลาง ซึ่งแรกๆ ยอมรับว่าเรื่อง Stent อาจจะสุดโต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ตอนนี้ก็ยืดหยุ่นให้ระดับหนึ่ง พยายามจะปรับปรุงอยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดที่งบประมาณ การซื้อเหมาโหลก็คือการจัดซื้อรวม ต่อให้ไม่มี สปสช. รพ.ก็ซื้อรวมเหมือนกัน เพราะราคาถูก แต่ว่าโดยงบประมาณมีเท่านี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 25 มิถุนายน 2558