ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการนานาชาติถกผลกระทบสุขภาพที่มาจากการค้าเสรี ทั้งด้านสินค้า บริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และการลงทุน มาตรฐานการส่งออกและนำเข้า วางระบบป้องผลกระทบคนไทย เพิ่มขีดความสามารถการส่งออกของอุตสาหกรรมยาไทย พร้อมทบทวน ประโยชน์ ความคุ้มค่า และปัญหาอุปสรรค หลังไทยประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรยา 7 รายการ รักษาโรคเอดส์ หัวใจ และมะเร็ง มาเกือบ 10 ปี

วันนี้ (7 กรกฎาคม 2558) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี 2558 ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ เป็น 1 ใน 9 ภารกิจระหว่างประเทศ รองรับการค้าเสรีในตลาดโลกจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนไทยมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัว ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิบัตรยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อการรักษาพยาบาล การค้าสินค้าทำลายสุขภาพ การเปิดเสรีงานบริการรักษาพยาบาล การกำหนดมาตรฐานอาหารปลอดภัย และการเปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น โดยต้องมีการจัดระบบการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ เป็นภูมิคุ้มกันพื้นฐานในการเจรจาต่อรอง เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูล 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา และสิทธิบัตรยาและความยืดหยุ่นของทริปส์ 2.การลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งรัฐและเอกชน เช่น บริการสุขภาพ ซึ่งไม่จำกัดเพียงโรงพยาบาลแต่ครอบคลุมทั้งคลินิกต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม กายภาพบำบัด และการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งกรณีพิพาทเกี่ยวกับยาสูบและแร่ใยหิน (Asbestos) และ3.การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกยาไปขายต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศนั้นๆ กำหนด ซึ่งในที่ประชุมจะมีการนำเสนอผลการวิจัยความเป็นไปได้ของการส่งยาไปขายในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเมียนมา

สำหรับเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้น จะมีการอภิปรายการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยสมัครใจและการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตามความยืดหยุ่นของข้อตกลงทริปส์ ได้แก่ การใช้สิทธิโดยรัฐและการบังคับใช้สิทธิ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศใช้สิทธิบัตรโดยรัฐ ในยารักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ หัวใจ และมะเร็ง รวม 7 รายการ ที่เป็นยาราคาแพง ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2549 - 2550 และใช้มาถึงขณะนี้ ทำให้ยามีราคาถูกลง ผู้ป่วยไทยเข้าถึงยามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีการพิจารณาทบทวนประเด็นต่างๆ ทั้งในด้านผลการดำเนินงาน ประโยชน์ ความคุ้มค่า และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งล่าสุดนี้ประเทศอินเดีย ได้ประกาศการบังคับใช้สิทธิบัตรด้วยวิธีการที่แตกต่างจากไทยเป็นครั้งแรกในยาต้านมะเร็งเมื่อปี 2555 ซึ่งได้เชิญมาร่วมให้ข้อมูลประสบการณ์ด้วย

การประชุมในครั้งนี้จัดโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคี โดยมี ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เป็นประธานพิธีเปิด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศและผลกระทบต่อระบบสุขภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และองค์การอนามัยโลก เข้าร่วมการประชุมกว่า 150 คน