ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอดำรัส” ยืนยันคุณภาพ “Stent บัตรทอง” ประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจไม่ต่างสิทธิระบบสุขภาพอื่น เหตุร่วมมือบริษัททำ CSR จัดซื้อราคาถูก ยอมรับผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจสิทธิบัตรทองตายมากกว่าสิทธิ ขรก. จากภาวะอาการแย่กว่า เข้าถึงการรักษาช้า แถมระบบเบิกจ่ายยังไม่รองรับ ทำ รพ.กังวลค่ารักษา พร้อมห่วงสถานการณ์ รพ.รัฐ-เอกชน แห่เปิดศูนย์โรคหัวใจทั่วประเทศร่วม 100 แห่ง จากปี 45 มีเพียง 12 แห่ง หวั่นมาตรฐานแย่ กระทบผู้ป่วยโรคหัวใจ ชี้ต้องมีมาตรการควบคุม รพ.รวมถึงหมอทำหัตถการ ด้าน สปสช. เผยอยู่ระหว่างทบทวนปัญหา เพื่อปรับปรุงระบบดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพ  

รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล

รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และผู้ป่วยระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองมากกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นเรื่องจริง โดยในกลุ่มของผู้ปวยโรคหัวใจที่เข้ารับการผ่าตัดและใส่สายสวนหัวใจ เกิดจากสาเหตุสำคัญ คืออาการของผู้ป่วยบัตรทองที่เข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมาด้วยสภาพที่หนักมาก การขาดการดูแลจากระบบอย่างต่อเนื่องหลังการรักษา ต่างจากผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการที่มีโอกาสเข้าถึงการรักษามากกว่า โดยเฉพาะการมีสิทธินอกเวลาราชการที่สามารถคัดกรองผู้ป่วยเข้ารักษาได้จำนวนหนึ่ง รวมถึงการติดตามหลังการผ่าตัด และตัวเลขนี้จะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา

ทั้งนี้ นอกจากสภาพผู้ป่วยแล้ว ระบบการเบิกจ่ายบัตรทองยังส่งผลต่อการรักษา ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยบัตรทองแม้ว่าจะอ้างอิงกรมบัญชีกลาง แต่ก็ไม่ครอบคลุมเท่า ขณะเดียวกันผู้ให้บริการยังต้องดูในเรื่องการเบิกจ่ายจากระบบบัตรทอง ที่ผ่านมาในโรงพยาบาลจึงเกิดศัพท์ใหม่ 3 คำ คือ รายได้พึงหวัง เป็นรายได้ที่ รพ.คาดหวังว่าจะได้ รายได้พึงได้ เป็นรายได้ที่เบิกจ่ายจากดีอาร์จี และรายได้จริง เป็นรายได้ที่ รพ.ได้รับ ซึ่งอาจได้รับน้อยกว่า ตรงนี้อาจเกิดจากการทำเบิกที่ไม่ครบถ้วน

ส่วนกรณีของขดลวดขยายหลอดเลือด (Stent) ซึ่งบัตรทองถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องคุณภาพนั้น รศ.นพ.ดำรัส กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานจัดซื้อขดลวดขยายหลอดเลือดให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในครั้งแรก ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นขดลวดขยายหลอดเลือดของบริษัทใด จากประเทศจีนหรือประเทศใด คุณภาพในการรักษาผู้ป่วยไม่แตกต่างกันและมีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน ซึ่งต่อมาในแต่ละปี สปสช.ได้มีการประกวดราคาและจัดซื้อขดลวดขยายหลอดเลือดจากจากบริษัทที่ชนะการประมูล   

 “การจัดซื้อ Stent ของ สปสช. กับบริษัทที่จำหน่ายเป็นไปในรูปแบบ CSR ที่เป็นความร่วมมือเพื่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ ซึ่งค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต Stent แม้ว่าจะมีราคาเพียงแค่ 1 ยูเอสเท่านั้น แต่ที่บริษัทต้องตั้งราคาขายแพงเพราะเป็นเรื่องความรู้ในการผลิต จึงภูมิใจได้ว่า Stent ในระบบบัตรทองไม่ใช่กระจอก ดีแน่นอน” รศ.นพ.ดำรัส กล่าวและว่า ระบบบัตรทองต้องดูแลประชาชน 48 ล้านคน หากให้เบิกจ่าย Stent เท่าระบบสวัสดิการข้าราชการก็คงไม่ไหว ระบบคงเจ๊ง จึงต้องเป็นความร่วมมือ ไม่ใช่การลดราคา เพราะจะเป็นการทำลายกลไกตลาด

รศ.นพ.ดำรัส กล่าวว่า นอกจากยังมีประเด็นที่อยากฝาก โดยในช่วงที่เป็นนายกสมาคมมัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย ได้รับเรื่องจากกองการประกอบโรคศิลป์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสอบถามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากภายหลังจากที่ สปสช.ได้ให้เบิกจ่ายขดลวดขยายหลอดเลือด ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจเพิ่มขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน จาก 12 แห่งในปี 2545 เป็น 95 แห่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีมานี้ เพิ่มขึ้นถึกว่า 50 แห่ง  

ทั้งนี้ในส่วนของ รพ.รัฐที่จัดตั้งศูนย์หัวใจนั้น ในช่วงแรกกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าทีมหมอหัวใจในระบบเพิ่มขึ้น แต่ทีมศัลยแพทย์สหสาขาเพื่อสนับสนุนการรักษาไม่ได้เพิ่มจำนวนตาม ส่งผลให้การผ่าตัดหัวใจในระบบยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ทั้งที่ต้องการให้เกิดการเดินหน้าทั้งองคาพยพ ต้องมีทีมผ่าตัดครบ 12 คน ดังนั้นในกรณีผู้ป่วยซับซ้อนจึงต้องส่งโรงเรียนแพทย์แทน อย่างไรก็ตามขณะนี้เท่าที่ทราบ รพ.บางแห่งมีหมอหัวใจ 1 คนก็เปิดเป็นศูนย์โรคหัวใจได้แล้ว ทำให้ระบบเริ่มเพี้ยนไป ประกอบกับในระยะหลังเริ่มมี รพ.เอกชนจัดตั้งศูนย์หัวใจเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อดึงรายได้จากการรักษาผู้ป่วยบัตรทอง โดยเฉพาะ รพ.ระดับเกรดซีและดี ที่พยายามเข้าร่วมรักษาฉุกเฉินและทำหัตถการ ตรงนี้น่ากลัวมาก ดังนั้นจึงต้องมีการจำกัดและกำหนดมาตรฐานศูนย์โรคหัวใจ พร้อมกันนี้ต้องมีระบบตรวจสอบมาตรฐานต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในส่วนของหมอที่ทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดขยายหลอดเลือด ยังอยากให้มีการกำกับและตรวจสอบ โดยแบ่งระดับการรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยหัวใจ ที่ต้องผ่านการอบรมและมีประสบการณ์รักษา ทั้งนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่ดี เพียงแต่ยังขาดการกำกับในเรื่องทีมแพทย์ให้การรักษา มาตรฐานของแพทย์ทำหัตถการ และการแบ่งระดับความยากง่ายของโรค เพื่อกำหนดว่าหมอคนหนึ่งให้การรักษาอะไรได้บ้าง โดยดูจากการอบรมและประสบการณ์รักษาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ศิริราชให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นสิทธิ์ข้าราชการ ร้อยละ 43 รองลงมาเป็นบัตรทอง ร้อยละ 30 จ่ายค่ารักษาเอง ร้อยละ 20 และประกันสังคมเพียงร้อยละ 7 โดยศิริราชมีการควบคุมอัตราการตายเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.87 โดยในส่วนกลุ่มผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายที่มีข้อจำกัดเวลาในการรักษาพบว่าผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองตายมากกว่า เพราะอาการผู้ป่วยแย่กว่า มาถึงช้ากว่า และระบบเบิกจ่ายยังไม่รองรับทำให้โรงพยาบาลเกิดกังวลต่อรายได้จริงที่จะได้รับ” รศ.นพ.ดำรัส กล่าว

ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ ประธานกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การที่ สปสช.จัดซื้อ Stent ในภาพรวม และรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่งผลให้ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ช่วยลดความพิการและเสียชีวิตลงได้ แต่ทั้งนี้ยอมรับว่าในการดำเนินระบบย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้ ดังนั้น สปสช.จึงได้เตรียมทบทวนปัญหาต่างๆ เพื่อทำการปรับปรุงเพื่อให้เกิดระบบการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น