ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ : “นพ. ธานินทร์” ประธานชมรม รพศ./รพท. แจงมีกระแสสร้างความเข้าใจผิดว่าจะล้มบัตรทอง ทำให้ ปชช.เข้าใจผิด สอบถาม รพ.ว่าต้องจ่ายค่ารักษาเองหรือไม่ ยืนยันทุกอย่างยังเหมือนเดิม ล่าสุดทำป้ายประกาศติดที่ รพ.บริการสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่ที่ผ่านมาเรียกร้องให้มีการปรับการบริหารของ สปสช.ใหม่เท่านั้น เพราะทำให้ รพ.ได้รับงบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 ว่า นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) พระนครศรีอยุธยา และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวถึงกรณีเกิดกระแสสร้างความเข้าใจผิดว่านายกรัฐมนตรี จะล้มกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพราะมีการพูดในแง่งบประมาณไม่เพียงพอ และสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลแย่ ว่า ขณะนี้มีความพยายามของคนบางกลุ่มสร้างข่าวว่า จะมีการล้มบัตรทอง ส่งผลให้ประชาชนผู้มารับบริการในหลายพื้นที่เข้าใจผิด และสอบถามทาง รพ.จำนวนมากว่า จากนี้ไปต้องเสียค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริง ทุกอย่างยังเหมือนเดิม โรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ยังให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

ล่าสุดโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ทำป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่ รวมทั้งประกาศติดตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล เพื่อยืนยันว่า การบริการสุขภาพเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดให้กับประชาชน และถือเป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับ ดังนั้น ยืนยันว่าจะดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ

นพ.ธานินทร์ กล่าวอีกว่า การที่ประชาคมสาธารณสุขออกมาเรียกร้องการปรับการบริหารของ สปสช. ใหม่นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะล้มระบบบัตรทอง แต่ประชาคมสาธารณสุข และ รพ.ต่างๆ มองว่าที่ผ่านมาการบริหารของสปสช. ก่อปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรเงินลงพื้นที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เห็นได้จากที่ผ่านมา สปสช. จัดสรรเงินในรูปแบบงบเหมาจ่ายรายหัวให้แก่รพ.ต่างๆ ตามจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งจะได้รับเงินไม่เท่ากัน อย่างปี 2558 สปสช.ได้งบรายหัว 2,895 บาทต่อคนต่อปี หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาทในการดูแลประชาชนสิทธิบัตรทอง 48 ล้านคน แต่ข้อเท็จจริงคือ งบดังกล่าวรวมเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขด้วยอีก 3.6 หมื่นล้านบาท ทำให้เมื่อหักเงินเดือนออกมา เงินที่ไปถึง รพ.ต่อหัวประชากรก็น้อยลง อีกทั้ง สปสช. ยังจัดสรรเงินไปให้มูลนิธิ หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่รพ. อีกกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท สุดท้าย รพ.ได้รับงบค่าหัวอยู่ที่พันกว่าบาท หรือ รพ.ขนาดเล็กบางแห่งได้ประมาณ 70-100 บาทด้วยซ้ำ ทำให้ที่ผ่านมา รพ.ขนาดใหญ่ต้องดูแลกันเองในพื้นที่ด้วยการเกลี่ยงบช่วยเหลือ

ขณะนี้ทางเพจวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยได้โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่าไม่มีการล้มระบบบัตรทองและยังให้บริการประชาชนตามเดิม ขณะที่ รพ.สังกัด สธ. ทั่วประเทศ อาทิ รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.พะเยา รพ.ระยอง รพ.สุรินทร์ ฯลฯ ได้ติดประกาศให้ประชาชนผู้มารับบริการเชื่อมั่นเช่นกัน  โดยระบุว่า ข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับปัญหาของระบบหลักประกันสุขภภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยเฉพาะประเด็นการโยกย้ายเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งต่อมามีความพยายามจะขยายความว่า "จะมีการยุบกองทุนบัตรทอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจสร้างความสับสนและกังวลใจแก่ท่าน ทาง รพ. ขอให้ความมั่นใจแก่ทุกท่าน ว่าเราจะดูแลทุกท่านอย่างเต็มความสามารถ ให้สมกับที่เป็นข้าราชการของแผ่นดิน และเรามีความภูมิใจที่ได้ให้บริการแก่ท่าน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสุขและความอุ่นใจให้กับประชาชนตามแนวทางของรัฐบาล"