ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ป่วยและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ขอบคุณ กลุ่ม รพศ./รพท.ที่ขึ้นป้ายยินดีให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง ย้ำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิพื้นฐานประชาชน แก้ยากจน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังกังวลรัฐบาลจะตัดลดการมีส่วนร่วมของประชาชนในบอร์ด สปสช. ด้านโฆษก สปสช.แจง เงินที่สนับสนุนมูลนิธิและหน่วยงานอื่นเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขในปี 57 อยู่ที่ 130 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 ของเหมาจ่ายที่ส่งให้หน่วยบริการเท่านั้น ไม่ใช่ 2-3 หมื่นล้านบาท

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า  เห็นด้วยที่กลุ่ม รพศ./รพท.ของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ออกประกาศชี้แจงยืนยันไม่มีกระบวนการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สำคัญยังได้ช่วยยืนยันว่า เรื่องสุขภาพนั้นเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ประชาชน ถือเป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับ และจะดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งการชี้แจงแบบนี้ทำให้ประชาชนสบายใจขึ้นมาก แต่ประเด็นที่ยังเป็นกังวลคือ ความพยายามที่จะตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกจากการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐต้องเข้าใจคือ เราอยู่ในยุคสมัยที่ประชาชนไม่ใช่เพียงแค่เป็นผู้รับบริการที่รอการบริการจากภาครัฐอีกต่อไป แต่เราขอกระบวนการมีส่วนร่วมการออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นของประชาชนด้วย ทุกคนตระหนักดีว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลเท่านั้นที่จะมาออกแบบระบบให้กับประชาชนโดยละทิ้งประชาชนเป็นเพียงแค่ผู้รอรับบริการเท่านั้น ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้สร้างกระบวนการเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ตอนนี้มีภาคประชาชนเพียง 5 คนเท่านั้น จากทั้งหมด 30 คน

“ทั้งนี้ยืนยันว่า กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการตั้งคณะกรรมการ ทั้งตัวแทนรัฐที่มาจากกระทรวงต่างๆ (ข้าราชการ) มาจากหน่วยบริการของ สธ.(ข้าราชการ) และเอกชน ตัวแทนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขอีกทุกองค์กร (ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการด้วย) ผู้ทรงคุณวุฒิ (ข้าราชการและอดีตข้าราชการ) องค์กรท้องถิ่น และประชาชน 5 คน ทั้งที่คณะกรรมการฯ แห่งนี้ควรต้องเป็นตัวแทนของกลุ่มประชาชนเพื่อออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนด้วยซ้ำไป” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว

นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณผู้บริการกระทรวงและกลุ่ม รพศ./รพท.ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ที่ได้ออกประกาศชี้แจงยืนยันกับสังคมว่าพร้อมให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง และไม่มีกระบวนการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตรงกับที่ท่านนายกรัฐมนตรีแถลง เพราะทั่วโลกต่างยอมรับว่า เรื่องสุขภาพนั้นเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐจัดให้ประชาชน ถือเป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับ ช่วยลดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การขึ้นป้ายชี้แจงแบบนี้ทำให้ประชาชนและสังคมสบายใจขึ้นมาก แต่ขณะนี้ประชาชน ผู้ป่วยยังมีประเด็นที่ต้องกังวลคือ มีข่าวว่ายังมีการเคลื่อนไหวจะกดดันให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิเศษตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกจากบอร์ดของ สปสช. ตัดออกจากการมีส่วนร่วมในการออกแบบกำหนดทิศทางระบบหลักประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของประชาชนด้วยการตัดตัวแทนภาคประชาชน และเพิ่มตัวแทน รพ.ของรัฐและเอกชนมากขึ้นในบอร์ด สปสช. ซึ่งถ้าเป็นจริงก็เท่ากับรัฐบาลจะละทิ้งไม่ให้ความสำคัญกับภาคประชาชน ทำให้ประชาชนเป็นเพียงแค่ผู้รอรับบริการเท่านั้น และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบอนาถาเหมือนในอดีตก่อนมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า ตามที่ นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการ รพ.พระนครศรีอยุธยา และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) ให้ข่าวทำให้เกิดความเสียหายว่า สปสช. จัดสรรเงินไปให้มูลนิธิ หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ รพ. กว่า 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น และมีการวิพากษ์วิจารณ์จนเกรงว่าจะทำให้สังคมเข้าใจการบริหารงานของ สปสช.ผิดไปจากข้อเท็จจริง รวมทั้งอาจทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีไม่สบายใจ  สปสช.จึงต้องขอเรียนว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จ เพราะในปี 57 สปสช.มีการจัดสรรงบกองทุนให้กับมูลนิธิ ชมรม สมาคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการ (ยกเว้นการซื้อยาและวัคซีนที่จำเป็นจากองค์การเภสัชกรรมของรัฐ เพื่อจัดส่งให้ รพ.ต่างๆ) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการของ รพ.ต่างๆ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธฺภาพมากขึ้น เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยอยู่ที่ 130 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 ของงบเหมาจ่ายที่ส่งให้หน่วยบริการเท่านั้น ไม่ใช่ 2-3 หมื่นล้านบาทตามที่ ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา และประธานชมรม รพศ./รพท. ให้ข่าว

“อย่างไรก็ตาม สปสช.ต้องขอขอบคุณที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา และ รพศ./รพท. อื่นๆ ที่ได้ทยอยส่งข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยในให้ สปสช. ทำให้สามารถเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการทางการแพทย์ให้ รพ.ต่างๆได้เหมือน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เร่งรัดให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้ รพ.มีสภาพคล่องทางการเงิน เพราะหากไม่มีข้อมูลเข้ามา สปสช.ก็ไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยค่าบริการได้” ทพ.อรรถพร กล่าว