ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมหมอครอบครัว ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค้นหาผู้พิการขาขาดในชุมชนที่มีอยู่กว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ขึ้นทะเบียนและจัดทำขาเทียมให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2559 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา พร้อมเร่งป้องกันและลดจำนวนคนพิการ จากผู้ป่วยเบาหวาน และรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุจราจรร่วมกับกระทรวงคมนาคม

วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ที่ โรงพยาบาลสระบุรี จ.สระบุรี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เป็นประธานในพิธีมอบขาเทียม ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา มอบนโยบายและมอบโล่ให้กับผู้สนับสนุน ทำคุณประโยชน์ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเสมอภาคในทุกมิติ สนับสนุนผู้ที่มีข้อจำกัดให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มของคนพิการ ซึ่งมีประมาณ 1.5 ล้านคน เป็นผู้พิการขาขาดกว่า 50,000 คน สาเหตุร้อยละ 45 เกิดจากอุบัติเหตุจราจร รองลงมาเกิดจากการเหยียบกับดักระเบิด แผลเรื้อรังโรคเบาหวาน ความผิดปกติแต่กำเนิดและปัญหาสุขภาพอื่นๆ คาดว่ามียังคนพิการขาขาดกว่า 10,000 คน ยังเข้าไม่ถึงบริการขาเทียม

กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบการให้บริการแก่คนพิการ ให้มีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น โดยส่งทีมหมอครอบครัว ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค้นหาคนพิการทุกหมู่บ้านทุกชุมชน เพื่อขึ้นทะเบียนและจัดทำขาเทียมให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2559 เพิ่มศักยภาพการผลิตขาเทียมให้ได้มากกว่า 10,000ยยยย ชิ้นต่อปี ขณะนี้มีโรงงานผลิตกายอุปกรณ์ทั่วประเทศ 124 แห่ง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 103 แห่ง และหน่วยงานอื่นๆ 21 แห่ง โดยขาเทียมที่ใช้มากที่สุดคือชนิดใต้เข่าร้อยละ 61 รองลงมาคือเหนือเข่าร้อยละ 32 ที่เหลือเป็นระดับเข่า สะโพกและข้อเท้า เร่งป้องกันและลดจำนวนคนพิการจากผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนจนต้องตัดขา โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดการทำงาน พร้อมรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุจราจรร่วมกับกระทรวงคมนาคม

นพ.อัษฏางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรี มีคนพิการ 13,328 คน เป็นผู้บกพร่องทางการเคลื่อนไหว 7,533 คน ในปี 2558 จัดทำโครงการขาเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งเป้าให้คนพิการขาขาด มีขาเทียม 269 คน โดยนักกายภาพบำบัดจะประเมินเตรียมความพร้อมผู้พิการก่อนให้โรงงานทำขาเทียม กำหนดวันนัดทำขาเทียม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำนวยความสะดวกจัดรถรับ-ส่งยยยย  และติดตามประเมินการใช้งานภายหลังได้รับขาเทียม โดยจังหวัดสระบุรี มีโรงงานทำขาเทียม 2 แห่ง ที่ โรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลแก่งคอย ผลการดำเนินงาน ส่งมอบขาเทียมชุดแรก 60 ขา เมื่อมีนาคม 2558 ชุดที่ 2 อีก 121 ขา และที่เหลือ 148 ขา ได้รับการประเมินและกำหนดวันทำขาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะส่งมอบขาเทียมครบตามเป้าหมาย ภายในเดือนธันวาคม 2558 ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กาชาดจังหวัด ขนส่งจังหวัด สมาคมคนพิการ รวมทั้งได้ดำเนินการระดมเงินบริจาค จัดตั้งเป็นกองทุนธารน้ำใจคนสระบุรีไม่ทอดทิ้งกัน ขณะนี้มียอดเงินบริจาคในโครงการฯ 679,800 บาท