ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.คมชัดลึก : สภา กทม.เร่ง ผู้บริหาร กทม.ขยายโรงพยาบาลลาดกระบัง จาก 60 เตียงเป็น 200 เตียง เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่แออัดมากหวังรองรับชาวกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ระบุ ชาวลาดกระบังเข้าถึงบริการสาธารณสุขน้อยมาก

สภากรุงเทพมหานคร(สภา กทม.)ได้จัดประชุม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 58 โดยมี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากทม.เป็นประธานการประชุม นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)ได้เสนอญัตติขอให้ กทม.เร่งดำเนินการก่อสร้างอาคารใหม่โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร

นายชยาวุธ กล่าวว่า ได้รับมอบให้ดูแลพื้นที่ลาดกระบัง ซึ่งในการลงพื้นที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า เขตลาดกระบังมีประชากร 167,000 คน แต่มีโรงพยาบาลรัฐให้บริการแห่งเดียวคือ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีสภาพคับแคบมาก รองรับผู้ป่วยได้เพียง 60 เตียงเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้วคิดเป็นประชากร 10,000 คนต่อ 4 เตียง ซึ่งไม่เพียงพอรองรับจำนวนผู้ป่วย และผู้ป่วยนอกที่มารักษาก็มีพื้นที่รองรับคับแคบ อีกทั้งบุคลากรก็ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีจำกัดและอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคติดต่อด้วย

โรงพยาบาลลาดกระบังตั้งในทำเลที่เหมาะสมใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และเขตลาดกระบัง มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีนิคมอุตสาหกรรม จึงมีประชากรแฝงจำนวนมาก ทำให้แต่ละปีมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้โรงพยาบาลมีภาระเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โรงพยาบาลลาดกระบังมีแผนขยายการบริการจาก 60 เตียง เป็น 200 เตียง เพื่อรองรับผู้มารับบริการ ซึ่ง กทม.ได้อนุมัติแผน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 แต่ติดที่โครงสร้างอาคารเดิมไม่สามารถรองรับการขยายโรงพยาบาลได้ จึงต้องก่อสร้างอาคารใหม่ให้เพียงพอต่อการขยายแผนงาน แต่ถึงปัจจุบันยังไม่คืบหน้าเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนกลับไม่ได้รับการดูแลจาก กทม.จึงยื่นญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯเร่งรัดการก่อสร้างต่อไป

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภากทม.กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมสถานพยาบาลในพื้นที่ต่างๆพบว่า พื้นที่ที่ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขไม่ได้คุณภาพคือ เขตหนองจอก สะพานสูง คันนายาว และลาดกระบัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แต่มีโรงพยาบาลรัฐน้อย ประชาชนในพื้นที่ต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนซึ่งหลายคนรายได้ไม่มากนัก จึงขอเสนอว่า หากจะสร้างโรงพยาบาลต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 100 เตียง เพราะถ้าต่ำกว่านี้ระบบจะไม่เบ็ดเสร็จยังต้องใช้ระบบส่งต่อโดยเฉพาะโรงพยาบาลลาดกระบังต้องรีบก่อสร้าง

นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.มีแนวคิดเพิ่มขีดความสามารถโรงพยาบาลลาดกระบัง ซึ่งทำเลที่ตั้งโรงพยาบาลมีพื้นที่จำกัดและอยู่ในบริเวณสำนักงานเขตจึงมีการจัดหาพื้นที่แห่งใหม่ แต่เมื่อพิจารณาครั้งสุดท้ายจึงได้ข้อสรุปว่าจะก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในพื้นที่เดิม เนื่องจากการหาพื้นที่ใหม่ต้องใช้เวลาพัฒนาสาธารณูปโภค โดยจะใช้พื้นที่สำนักงานเขตลาดกระบัง แล้วย้ายสำนักงานเขตไปตั้งบริเวณศาลาประชาคม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และมอบให้สำนักการโยธากับสำนักการแพทย์ออกแบบและดูแลการก่อสร้าง โดยเร่งรัดการออกแบบสำนักงานเขตก่อน คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จภายในมกราคม 2559 และจะขออนุมัติงบประมาณก่อสร้างทันที

ส่วนอาคารสำนักงานเขตขนาด 5 ชั้น จะยังไม่มีการรื้อถอน โดยให้ออกแบบปรับปรุงและออกแบบการก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างปี 2560 นอกจากนี้ยังมีแผนจะสร้างศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งใหม่บริเวณเคหะชุมชนร่มเกล้า ซึ่งได้เร่งรัดให้สำนักการโยธาและสำนักการแพทย์ประชุมติดตามงานทุกเดือนเพื่อแก้ปัญหางานล่าช้า

ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบบัญญัติดังกล่าวและให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาเร่งรัดการก่อสร้างอาคารใหม่โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลอื่นๆที่อยู่ระหว่างดำเนินการของ กทม.

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 14 ก.ค. 58