ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าขับเคลื่อน 4 นโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ ผลักดันเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย หวังลดภาวะอ้วน เตี้ย

วันนี้ (16 กรกฎาคม 2558) นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายโภชนาการสมวัย เพื่อยกร่างนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ และการรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนภาคเหนือ ณ โรงแรมดวงตะวันโฮเทล จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กรมอนามัยดำเนินโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการมาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันมีจังหวัดที่สมัครใจร่วมโครงการฯ จำนวน 13 จังหวัด ใน 4 ภาค แบ่งเป็นภาคกลาง 3 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรปราการ และเพชรบุรี ภาคอีสาน 4 จังหวัด คือ อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ และสกลนคร ภาคใต้ 2 จังหวัด คือ สงขลา และภูเก็ต ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และเพชรบูรณ์ ซึ่งในปี 2558 กรมอนามัยและเครือข่ายโภชนาการสมวัยจะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 4 เรื่อง ได้แก่

1) การนำนโยบายเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนตามงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจาก 13 บาท เป็น 20 บาท สู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับวัตถุดิบอาหาร โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น ผู้แทนเครือข่ายผู้ปกครอง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำชุมชน และนักโภชนาการหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการนำมาตรฐานโภชนาการในการจัดบริการอาหารกลางวันนักเรียน ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ไปใช้ในกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อควบคุมคุณภาพและราคาอาหาร

2) การบรรจุนักโภชนาการประจำตำบล โดยใช้งบประมาณท้องถิ่น 3) การผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนมีการจัดบริการอาหารในรูปแบบครัวกลาง 1 ตำบล 1 ครัวกลาง เน้นการใช้วัตถุดิบอาหารและผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยในชุมชน เพื่อควบคุมคุณภาพ ณ จุดเดียว ลดต้นทุน และสร้างเศรษฐกิจชุมชน

และ 4) การมีระบบควบคุม กำกับ ติดตาม ประเมินผลการจัดการคุณภาพอาหาร โดยระดับพื้นที่ ได้แก่ ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน ทำการประเมินตนเอง ปีละ 2 ครั้ง ระดับจังหวัด/เขต ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์อนามัยทั้ง 12 แห่ง สุ่มประเมินปีละ 2 ครั้ง ส่วนกลางประกอบด้วยกรมอนามัย กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมบัญชีกลาง สุ่มประเมิน ปีละ 1 ครั้ง และมีการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียนต่อเนื่อง โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการแก้ไขปัญหาโดยมีการติดตามเดือนละครั้ง

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า กรมอนามัยคาดว่าภายใน ปี 2567 หรือประมาณอีก 10 ปีข้างหน้า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการจะสามารถลดภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนลงได้ร้อยละ 0.5 ต่อปีเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดิม หรือควบคุมไม่ให้ภาวะอ้วนเกิดเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 9.9 ภาวะเตี้ยจาก ร้อยละ7.5 ลดเหลือร้อยละ 5 และส่งเสริมให้เด็กไทยเพศหญิงและเพศชาย มีความสูงเฉลี่ย 165 และ 175 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีไอคิวเฉลี่ยมากกว่า 100 จุด

"สำหรับการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหลายๆ ภาคส่วนกว่า 300 คน ประกอบไปด้วย ท้องถิ่นจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียน หัวหน้างานส่งเสริมสุขภาพ นักโภชนาการ นักวิชาการศึกษา นักวิชาการสาธารณสุข หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่มเกษตรกร ชมรมอาหารปลอดภัย ชมรมรักสุขภาพ ครู อาจารย์ นักศึกษา และสื่อมวลชน เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อสรุปไปพัฒนาคุณภาพอาหารตามมาตรฐานตั้งแต่การผลิตจนถึงผู้บริโภค เพื่อให้เด็กไทยมีโภชนาการสมวัยอย่างยั่งยืนต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด