ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.ณรงค์” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษามะเร็ง รพ.อุดรธานี  ยืนยันผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงการรักษามะเร็งมาตรฐานเดียวกับสิทธิข้าราชการ แต่ปัญหาผู้ป่วยบัตรทองคือมารักษาเมื่อป่วยมากแล้ว ต่างจากสิทธิข้าราชการที่มารักษาในระยะเริ่มต้น ทั้งที่มะเร็งหากรักษาในระยะแรกเริ่มโอกาสรอดชีวิตจะสูงขึ้น ชี้หากร่วมจ่ายควรเปิดช่องให้ผู้ป่วยมีทางเลือกที่เหมาะสมตามกำลังของผู้ป่วย

นพ.ณรงค์ ธาดาเดช

นพ.ณรงค์ ธาดาเดช รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.อุดรธานี กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติรักษามะเร็งอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ให้บริการตามโปรโตคอลมะเร็ง ไม่ได้มีอุปสรรคอะไร ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น เพราะประมาณ 80% เป็นยาเข้าถึงได้ทั้งหมดตามบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ก็มีข้อจำกัดเพียงกลุ่มยาจำเป็นบางประเภท หรือยามุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่เป็นยานอกบัญชียาหลักซึ่งก็มีไม่มาก  

“การรักษาและเข้าถึงยาของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองกับสิทธิข้าราชการนั้น รพ.เราใช้แนวทางการรักษาที่เหมือนกันตามโปรโคคอล ใช้ยาตัวเดียวกัน ยกเว้นยาบางประเภทที่ข้าราชการเบิกได้  ซึ่งมีความแตกต่างกันน้อยมาก ผู้ป่วยมะเร็งบัตรทองส่วนใหญ่จะมารักษาระยะปลายๆ ถ้าเทียบกับสิทธิข้าราชการ ในทางการรักษาหากเราสามารถตรวจพบและรักษาได้ในระยะแรกๆ โอกาสรอดชีวิตจะสูงขึ้น”       

นพ.ณรงค์ กล่าวถึงกรณีร่วมจ่ายว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา สำหรับผู้ที่สามารถร่วมจ่ายได้   ยกตัวอย่าง เรามีสิทธิพื้นฐานมีมาตรฐานและปลอดภัยให้สำหรับทุกคน หากต้องการมากกว่าสิทธิพื้นฐานที่ได้รับก็สามารถร่วมจ่ายเพิ่มเติมได้ ดังนั้นคิดว่าควรจะให้มีร่วมจ่าย แต่ต้องร่วมจ่ายตามกำลังซื้อของผู้ป่วยที่เลือกได้ อย่างไรก็ตามต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง   

“ในประเด็นนักวิชาการพูดว่า ผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตสูงกว่าสิทธิข้าราชการ ผมไม่เชื่อ คือเรารักษา  เราดูก่อนว่าคุณเอาตัวไหนมาเปรียบเทียบ ถ้าดูคนตาย แล้วข้าราชการมารักษาที่โรงพยาบาลของรัฐจำนวนกี่คน แล้วกลุ่มข้าราชการที่มารักษาอาการของโรคอยู่ในระยะไหน กลุ่มบัตรทองหากเทียบกันแล้วเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสกว่ามากในระยะไหน ถ้าเป็นธรรมจริง ต้องเรียงเลยว่าอยู่ในระยะไหน ระดับความรุนแรงของโรคเท่าๆ กัน จึงจะนำมาเปรียบเทียบได้”

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีระบบการรักษาภายใต้สิทธิบัตรทองที่ดูแลสะดวกสบายเข้าถึงง่าย จนบางครั้งเป็นการตามใจคนไข้มากเกินไปด้วยซ้ำ พอป่วยก็มีระบบรักษา แต่เราต้องมีการดูแลสุขภาพตนเองที่ดีด้วย อาหารการกิน การออกกำลังกาย ไม่ใช่ว่าไม่ทำแล้วรอเป็นโรคแล้วมาหาหมอ ด้านการจัดการโรงพยาบาลแต่ละระดับก็ต้องมีขอบเขตในการรักษาว่าอยู่ระดับไหน แบ่งการคัดกรองที่ชัดเจน ด้านการบริหารจัดการก็ดำเนินการปรับปรุงควบคู่กันไป