ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่านักระบาดวิทยา มีความสำคัญ ทั้งๆ ที่การควบคุมและป้องกันโรคติดต่ออันตราย เช่น เมอร์ส ไข้หวัดนก ซาร์ส ฯลฯ ล้วนมาจากพวกเขา..." นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความสำคัญของสายงานระบาดวิทยา ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนหนัก

นพ.โสภณ เมฆธน

นพ.โสภณบอกว่า "นักระบาด" ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมีส่วนในการป้องกันและควบคุมโรค แต่ปัญหาคือ งานสายการป้องกันโรคกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่างานรักษา ขณะที่แพทย์หรือผู้ที่สนใจเรียนด้านสายงานนี้ก็น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งน่ากังวลว่า สุดท้ายหากไม่มีนักระบาดวิทยา หากเกิดโรคติดต่ออันตรายขึ้นอีก ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เนื่องจากทุกวันนี้มีนักระบาดทั่วประเทศมีไม่ถึง 200 คน หลายคนก็ไม่ได้ทำสายระบาดวิทยาโดยตรง สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สายงานนี้ไม่ได้รับความสนใจ อาจเพราะลักษณะงานที่ปฏิบัติมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากแพทย์กลุ่มนี้ มีหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง แม้จะมีระบบป้องกัน แต่หลายคนก็ยังกังวล

ยังไม่นับรวมเรื่องความก้าวหน้าในสายงานและค่าตอบแทนที่ต่ำ เพราะเมื่อเทียบกับแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านการรักษาในโรงพยาบาล พบว่าค่าตอบแทนห่างกัน 30,000-50,000 บาท ทั้งๆ ที่มีความสำคัญไม่แตกต่างกัน

ประเด็นความก้าวหน้าในอาชีพสำคัญมาก กรมควบคุมโรคเคยมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รวม 2 ครั้ง ในปี 2553 และปี 2557 ขอให้ ก.พ.พิจารณากำหนดทางก้าวหน้าสำหรับแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรค และยังได้เข้าหารือกับ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. ขอให้มีการพิจารณาในเรื่องค่าตอบแทน เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งขอให้มีการดึงแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาเรียนเพิ่มเติม

"แนวทางหนึ่งที่กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมอนามัย เพราะเป็นสายงานด้านเวชศาสตร์ป้องกันเหมือนกัน คือ ใช้วิธีดึงนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ขณะเรียนแพทย์ปีที่ 1 ให้ฝึกงาน ปีที่ 2 ก็ขอให้ส่งแพทย์ที่ต้องการทำงานสายนี้ไปที่กรมควบคุมโรคและกรมอนามัยปีละ 5 คน เพื่อผลิตเพิ่ม ซึ่งจะมีการหารือและนำเรียนรัฐมนตรีว่าการ สธ.ต่อไป" นพ.โสภณกล่าว

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา ให้ข้อมูลว่า สำหรับสัดส่วนนักระบาดที่เหมาะสม ในระดับสากลกำหนดว่า นักระบาดระดับเชี่ยวชาญ 1 คนต่อประชากร 200,000 คน ดังนั้น ในประเทศไทยควรมีนักระบาดประมาณ 350 คน ขณะที่ปัจจุบันไทยมีเพียง 170 คน แต่หลายคนก็ไม่ได้อยู่ในสายงานระบาด

"ที่ผ่านมา สำนักระบาดเปิดอบรมทุกปี ซึ่งแต่ละปีจะมีคนเข้ามาอบรม 10 คน แต่ช่วงหลังลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะลักษณะงานค่อนข้างเหนื่อย ลงภาคสนามไปสอบสวนหาสาเหตุโรค ไม่ก็สารเคมีต่างๆ ขณะที่ค่าตอบแทนก็น้อย ซึ่งตรงนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก อย่างคนทำงานระบาดมา 10-20 ปี เงินเดือนไม่ถึง 1 แสนบาท แต่แพทย์จบใหม่ได้เงินเดือน ค่าตอบแทนเป็นแสนบาทก็มี อย่างนักระบาดเวลาลงพื้นที่ไปสอบสวนหาเชื้อโรค ค่าความเสี่ยงต่างๆ นับเหมือนค่าเวร ได้วันละ 550 บาทในวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ได้ 1,200 บาท หากมีการปรับเปลี่ยนตรงนี้ได้ ก็น่าจะสร้างแรงจูงใจได้มากขึ้น" นพ.ธนรักษ์กล่าว

เมื่อสอบถามนักระบาดวิทยา พญ.พจมาน ศิริอารยาภรณ์ หัวหน้ากลุ่มสอบสวนและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า สายงานระบาดวิทยา เปรียบเป็น "นักสืบทางการแพทย์" ทำหน้าที่สืบหาสาเหตุการระบาดของโรค อย่างกรณีโรคเมอร์ส จะมีการแบ่งทีมลงไป โดยทีมแรกจะลงไปตรวจสอบและเก็บตัวอย่างเชื้อ ซึ่งเมื่อเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบแล้ว ทีมแรกที่ลงไปก็ต้องถูกเฝ้าระวัง 14 วัน ว่าปลอดโรคหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันหากมีโอกาสติดเชื้อ จากนั้นก็จะมีทีมที่ 2 ลงไป เพื่อเข้าไปสืบหาว่า นอกจากผู้ป่วยรายนี้ ยังมีเคสที่ต้องเฝ้าระวังหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดอื่นๆ อีกกี่ราย จากนั้นก็ต้องมาประเมินว่าเป็นผู้สัมผัสโรคเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ เพื่อวางทิศทางป้องกันโรคต่อไป

"จริงๆ แล้วการสอบสวนโรค นอกจากจะมีเป็นขั้นตอนต่างๆ แล้ว ยังต้องอาศัยความชำนาญ และเทคนิคของแต่ละคนด้วย เพราะนักระบาด โดยเฉพาะภาคสนามต้องมีศิลปะในการพูด ในการถาม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อหาต้นตอของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นโรค หรือปัญหาสารเคมี อย่างคนละเอียดมากๆ ก็อาจสอบสวนโรคได้ลึก ขณะที่คนมีความแหลมคม หูตาไว ก็อาจสังเกตต่างๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป เพราะหลายครั้งคนถูกสัมภาษณ์อาจไม่เล่าความจริงทั้งหมด ก็ต้องรู้จักสังเกต ซึ่งไม่ต่างอะไรกับนักสืบเลย บางทีก็ต้องแฝงตัวเป็นประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่า อาหารจากร้านไหน หรือจากแหล่งโรงงานใดมีการปนเปื้อน ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นศิลปะและเทคนิค เพื่อตัดตอนการระบาดของโรคทั้งสิ้น" พญ.พจมานกล่าว

แม้ตัวงานจะมีคุณค่าแค่ไหน แต่กลับไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่า ขณะที่ต่างประเทศกลับมองว่างานระบาดของไทยแถวหน้าทีเดียว หัวหน้ากลุ่มสอบสวนฯ เสริมว่า อย่างเรื่องซาร์ส ไทยได้รับคำชมมาก ว่ามีการเตรียมพร้อมที่เข้มแข็งมากกว่าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนทิศทางการควบคุมโรค มาตรการไหนสำคัญสุด ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

"นักระบาดวิทยา จริงๆ เป็นงานสนุก และเป็นหนึ่งในน้อยงานที่ตัวเนื้องานเป็นรางวัลให้คนทำงานเอง ไม่ใช่แค่คำชม แต่ตัวงานมันน่าสนใจ มันเปิดโลกทรรศน์ อย่างเป็นแพทย์ทั่วไป เราไม่รู้ประเด็นพวกนี้หรอก เพราะนี่คือนักสืบ เพื่อสืบหาความจริงของปัญหาสุขภาพ และเมื่อคลี่คลาย ความรู้สึกแรกคือ นี่แหละชีวิตที่มีคุณค่า" พญ.พจมานกล่าวทิ้งท้าย

คงเป็นปัญหา หากนักระบาดเหลือน้อยลงทุกที ยิ่งหากเกิดโรคอุบัติใหม่ลุกลามเข้าไทย เราจะหานักระบาดที่เข้มแข็งมาจากไหน ?

นี่คือ "โจทย์" ข้อใหญ่ที่ระดับนโยบายต้องคิด...

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ warunee11@yahoo.com

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 18 ก.ค. 2558

ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/lakthai