ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พัฒนายกระดับ รพ.ห้วยเกิ้งเป็น รพ.การแพทย์แผนไทยแห่งใหม่ 1 ใน 21 แห่งของปี 2558 เปิดบริการรักษาโรคคู่ขนานกับแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ป่วยเลือกใช้บริการมากถึงร้อยละ 50 ช่วยรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต กลับมาพูดได้และเดินได้ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กระจายพันธุ์สมุนไพรและศูนย์แปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพมาตรฐานจำหน่ายให้ผู้ผลิตยาสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.ห้วยเกิ้ง จ.อุดรธานีว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนายกระดับ รพ.ห้วยเกิ้ง เป็น 1 ใน 21 รพ.การแพทย์แผนไทยแห่งใหม่ ประจำปี 2558 เปิดบริการรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในคู่ขนานกับแพทย์แผนปัจจุบัน รักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เช่น นวด อบ ประคบฝังเข็ม การฟื้นฟูสภาพในโรคเรื้อรัง ในแต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกวันละประมาณ 100 คนโดยผู้ป่วยร้อยละ 50 เลือกใช้บริการแบบแพทย์แผนไทย ส่วนใหญ่เป็นโรคปวดเมื่อยจากการทำงาน ในส่วนผู้ป่วยในที่นอนพักรักษาใน รพ. เน้นการรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังซับซ้อน เช่นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต มีผู้ป่วยเข้ารักษา 25 คนขณะนี้รักษาฟื้นฟูด้วยแพทย์แผนไทยให้กลับมาพูดได้และเดินได้แล้ว 6 คนผู้รับบริการพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 80

โดยมีการใช้ยาสมุนไพรสำเร็จรูปรักษาโรค เช่น โรคทางเดินหายใจปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มียาสมุนไพรในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติรวม 43 รายการ ยาสมุนไพรแห้ง 125 รายการ ยาสมุนไพรชนิดตำรับ 5 ตำรับผู้ป่วยยอมรับการใช้ยาสมุนไพรมาก ลดการใช้ยาแผนปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 15 และผลิตสมุนไพรใช้ภายนอก เช่น ลูกประคบแห้ง ขี้ผึ้งเสลดพังพอนทาพิมเสนน้ำ และน้ำมันไพล ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมีแผนพัฒนาโรงงานผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี

ภก.ศิริชัย ระบาเลิศ ผู้อำนวยการ รพ.ห้วยเกิ้ง กล่าวว่า รพ.ได้ส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางคลินิกทางการแพทย์แผนไทยและงานสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน จัดตั้งกลุ่มรักษ์สมุนไพรให้ชุมชนปลูกสมุนไพรที่ผ่านการคัดสายพันธุ์ 125 ชนิด เน้นสมุนไพรยอดนิยม (Product Champion) เช่น บัวบก กระชายดำ ขมิ้นชัน และไพลโดยใช้พื้นที่ว่างเปล่า ป่าในชุมชนและตามบ้านประมาณ 60 ไร่ปลูกตามมาตรฐานการเพาะปลูกสมุนไพรที่ดี(GAP)และผ่านมาตรฐานการตรวจหาสารปนเปื้อนโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.อุดรธานีเพื่อให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q ทอง)ทั้งสารตัวยาสำคัญในสมุนไพรครบถ้วน มีความปลอดภัยต่อการใช้

นอกจากนี้ รพ.ยังเป็นศูนย์แปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรรับซื้อสมุนไพรจากชุมชน มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆจากสมุนไพรเพื่อใช้ในงานรักษาพยาบาล รวมทั้งเป็นตลาดกลางจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐานให้ผู้ประกอบการผลิตยาสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศด้วย ขณะนี้ชุมชนปลูกสมุนไพรเป็นรายได้หลักและรายได้เสริมประมาณ 200 คน ใน 8 ชุมชน 3 อำเภอช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นมีเศรษฐกิจดีอย่างยั่งยืนด้านสมุนไพรที่มีคุณภาพสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการที่จะสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชนท้องถิ่น