ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอกุลเดช” ผอ.รพ.หาดใหญ่ ชี้ ปัญหาผู้ป่วยแออัด รอคิวรักษานานใน รพ. เหตุความต้องการด้านการรักษามากขึ้น เทคโนโลยีการแพทย์ก็ก้าวหน้า แต่ระบบกลับผลิตแพทย์และบุคลากรตอบสนองไม่ทัน แนะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ปรับการบริหารงบประมาณบัตรทองที่ สปสช.ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ใช้เงินให้หมด ไม่ให้มีเงินค้าง

นพ.กุลเดช เตชะนภารักษ์

นพ.กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวถึงปัญหาการรอคิวรับบริการของประชาชนในโรงพยาบาล ว่า ต้นสายปลายเหตุมาจากระบบสุขภาพของไทยเดินตามหลังสหรัฐอเมริกา ซึ่งการรักษาต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามากขึ้น และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป การรักษาต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งใช้เวลาในการวินิจฉัยและรักษามากขึ้น แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กลับมีน้อยกว่าความต้องการของประชาชน ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมมีมาก คิวในการรักษาก็นานขึ้น

นพ.กุลเดช กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการด้านการรักษาของประชาชนมีมากขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ก็ก้าวหน้า แต่ระบบกลับผลิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อตอบสนองได้ไม่ทัน และคนไทยเองก็มีสิทธิในการรักษาพยาบาล ทั้ง ประกันสังคม ข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งหากไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายก็สูง ผู้ป่วยจึงมาแออัดที่โรงพยาบาลของรัฐ จะแก้ปัญหาด้วยการให้แพทย์เฉพาะทางมาตรวจรักษานอกเวลา ก็ต้องมีค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อให้แพทย์ แต่ระบบราชการนั้นทำไม่ได้ ทางผู้บริหารก็ไม่กล้าทำ เพราะระเบียบราชการไม่เอื้อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงไปรับงาน รพ.เอกชน แทน ส่งผลให้ขาดแคลนแพทย์มากขึ้นไปอีก

“ปัญหาที่โรงพยาบาลเจออีกเรื่อง คือ ความต้องการด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนมากขึ้น โรงพยาบาลให้บริการไม่ทันใจ เขาก็ขอไปรักษาที่อื่น แต่ไม่ต้องการจ่ายเงินเอง ให้โรงพยาบาลต้นสังกัดตามไปจ่ายให้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เราจึงทำตามต้องการไม่ได้ ผู้ป่วยก็ไปฟ้องศาลปกครอง ผมในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ต้องไปขึ้นศาล จึงต้องมาวิเคราะห์กันว่าจุดพอดีจุดเหมาะสมของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน”

นพ.กุลเดช กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขในตอนนี้ เพื่อทำให้การบริการประชาชนดีขึ้น คือ ปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งรับงบประมาณมาจากรัฐบาล แต่ไม่สามารถทำให้เงินงบประมาณกว่า 1.4 แสนล้านบาท ลงถึงมือประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะยังมีงบประมาณที่ต้องจ่ายให้โรงพยาบาลหลายส่วนยังค้างอยู่ในระบบของ สปสช. เช่น โปรแกรมโรคไต จึงต้องไปตรวจสอบว่า สปสช. ใช้เงินหมดหรือไม่ เพราะรัฐบาลให้งบประมาณใช้ในการรักษา และซื้อยาให้หมดภายในปีงบประมาณนั้น ไม่ให้เหลือ ไม่ให้กั๊กไว้ 

“ทางโรงพยาบาล จึงสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแลการบริหารจัดการงบประมาณรายหัว ของระบบหลักประกันสุขภาพให้โปร่งใส และเม็ดเงินลงไปถึงผู้ป่วยโดยตรง ตามที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจพบทั้ง 7 ประเด็น ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอได้” นพ.กุลเดชกล่าว และว่า ระบบหลักประกันสุขภาพนั้นหากยังต้องแบกรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชน และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า อนาคตข้างหน้าจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะหากปล่อยไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกติกาการร่วมจ่ายจะทำให้ระบบการให้บริการของโรงพยาบาลบิดเบี้ยว และมีความเสี่ยงในการถูกผู้ป่วยฟ้องร้องมากขึ้น ว่าทำไมโรงพยาบาลไม่ตรวจวินิจฉัยแบบนั้นแบบนี้ให้ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แต่ถ้าทำตามความต้องการของผู้ป่วยทุกอย่างโรงพยาบาลเจ๊งแน่นอน.