ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ จัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์นานาชาติเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมสร้างเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาการบริการโรคหลอดเลือดสมองอย่างมีมาตรฐาน หวังลดอัตราพิการ เสียชีวิตของผู้ป่วย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการจัดการอบรมในครั้งนี้ ว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือเรียกว่า Stroke เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากสถิติ พบว่า ทุกๆ ปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 50,000 รายต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 6 ราย ส่วนที่รอดชีวิต 
มีความพิการทุกระดับถึงร้อยละ 60และที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันทุก 1 นาที เซลล์สมองตายถึง 2 ล้านเซลล์ หรือ 1 ชั่วโมงสมองเสื่อมลงเท่ากับ 3.4 ปี ดังนั้นการที่ผู้ป่วยมารักษาเร็วเท่าไหร่ จะลดการสูญเสียทางสมองได้มากเท่านั้น   

และจากผลการศึกษาวิจัยแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้น พบว่า การจัดตั้ง Stroke unit และการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ สามารถลดอัตราความพิการจากโรคหลอดเลือดสมองได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาระยะยาว กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันประสาทวิทยา เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท จึงได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์นานาชาติเพื่อการจัดตั้ง Stroke service :stroke unit and stroke fast track เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านระบบประสาทแก่แพทย์และพยาบาลจากประเทศต่างๆ  อาทิ จากสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้สามารถจัดบริการโรคหลอดเลือดสมองหรือจัดตั้ง stroke unit ได้ 

ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในการศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ระหว่างกันต่อไปในอนาคต

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนควรรู้จักดูแลตนเองและหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ จะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้นหลอดเลือดจะเสื่อมตามไปด้วย การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม ภาวะน้ำหนักเกิน และพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวสูงกว่าเพศหญิง ทั้งนี้อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเองตามหลักที่จำได้ง่ายคือ F A S T โดย F=FACE ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวมองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก A =ARM อาการแขนขาอ่อนแรงข้างใด ข้างหนึ่ง S=SPEECH ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ และ T=TIME เวลาที่จะต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด