ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : สารพัดข้อเสนอถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่ขวบปีที่ 13 และเข้าสู่ยุคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับมอบดาบอาญาสิทธิจากรัฐบาลให้ต้องปฏิรูประบบ

แม้จะมีเสียงชื่นชมจากนานาชาติ แต่บ้านเรา "บัตรทอง" เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน เพราะหากด้านหนึ่งมีงานวิจัยชัดเจนว่าได้ช่วยให้คนจนและคนชั้นกลางจำนวนมาก หลุดพ้นจากภาวะล้มละลาย ไม่ต้องขายบ้าน ขายรถ ขายนา เพื่อเอาเงินไปจ่ายเป็นค่ารักษาตัวเหมือนที่เคยเกิดในอดีต

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งโครงการนี้ก็สร้างความทุกข์ให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเป็นเงินก้อนใหญ่ ในระบบงบประมาณ ทำให้ภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว และทำให้บางโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องออกมาบ่นดังๆ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า "ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ประเทศไทยพร้อมหรือยัง?"

ทั้งนี้ ข้อเสนอให้ประชาชน "ร่วมจ่าย" ค่ารักษาพยาบาล แทนที่จะใช้งบประมาณจากภาษีผ่านกลไกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพียงอย่างเดียว ถูกหลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง เพื่อบรรเทาความกังวลว่างบบัตรทอง 30 บาท จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นภาระในอนาคต

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า หากจะมีการร่วมจ่ายเกิดขึ้น ก็ต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนว่าจะจ่ายเมื่อใด จ่ายเท่าไร และ "ใคร" จะเป็นผู้จ่าย

"ก่อนหน้านี้เรามีบัตรอนาถาสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้คนจนรักษาพยาบาลได้ฟรี แต่กลับพบว่าคนจนเพียง 30% เท่านั้นที่เข้าถึงการรักษาพยาบาล และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้จนจริง แต่กลับใช้บริการนี้ได้ หากจะร่วมจ่ายก็ต้องหาทางให้ได้ก่อนว่าจะทำอย่างไรให้คนจนไม่ต้องรับภาระ" นพ.วิชัย ระบุ

นพ.วิชัย บอกอีกว่า ทุกวันนี้ประชาชนร่วมจ่ายผ่านภาษีรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว นั่นหมายความ ว่าใช้จ่ายมากเท่าไร เงินก็เข้าสู่รัฐมากขึ้น

ทั้งนี้ นพ.วิชัย เห็นด้วยกับแนวคิดของกรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ ที่ให้กองทุนประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ของบประมาณร่วมกับบัตรทอง เพื่อคุมงบประมาณของแต่ละกองทุนให้ไม่ต่างกันมาก และทำให้สิทธิประโยชน์ไม่เหลื่อมล้ำอย่างทุกวันนี้ ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าจะประหยัดงบประมาณไปได้มหาศาล และหากทำสำเร็จก็อาจไม่ต้องคุยกันเรื่องร่วมจ่ายด้วยซ้ำ

ด้าน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา มองว่า ด้วยปริมาณผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และ โรคที่ซับซ้อน-หลากหลาย ทำให้ระบบบัตรทองหนีการ "ร่วมจ่าย" ไม่พ้น

"ที่เห็นชัดว่าหลังมีโครงการ 30 บาท ผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น มีอำนาจเหนือหมอมากขึ้น และสร้างภาระให้กับหมอและโรงพยาบาลมากขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ดูแลอย่าง สปสช.ไม่ได้สนใจที่จะดูแลโรงพยาบาล-บุคลากรในระบบ แต่กลับเพิ่มภาระให้ โดยอ้างว่าเงินมีอยู่แค่นี้ ทำให้หมอสมองไหลออกไปจากระบบบริการภาครัฐมากขึ้น" พญ.เชิดชู เล่าให้ฟัง

คุณหมอเชิดชู เสนอว่านอกจากจะต้องวางระบบการร่วมจ่าย ให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบสุขภาพตัวเองแล้ว ก็ต้องแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเลิกการผูกขาดของคนใน สปสช.

นอกจากนี้ พญ.เชิดชู ยังคัดค้านเต็มที่กับข้อเสนอของกรรมการประสาน 3 กองทุนที่ให้ตั้งบอร์ดสุขภาพระดับชาติ เนื่องจากแต่ละกองทุนเกิดขึ้นโดยมีที่มาต่างกัน และยังไม่น่าไว้ใจหากจะให้คนที่เคยสร้างปัญหาให้กับระบบหลักประกันฯ อย่าง ศ.อัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการประสานงาน 3 กองทุน มีอำนาจเหนือสามกองทุน โดยอาจทำให้ประเทศเกิด "หายนะ" ได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2558