ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ สปสช. อภ. จับมือวางระบบบริหารจัดการ “ยาบริจาคราคาแพงที่ได้รับจากบริษัทยา” ครั้งแรก ประเดิมยามะเร็งเม็ดเลือดขาว ยามะเร็งระบบทางเดินอาหาร หลังบริษัทผู้ผลิตยินดีช่วยผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าถึงยา มูลค่าร่วม 2 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 58 ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ภก.สมชาย ศรีชัยนาค รองผู้อำนวยองค์การเภสัชกรรม ร่วมลงนามความร่วมมือ “การบริหารจัดการนำยาบริจาคที่มีมูลค่าสูงมาใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งร้ายแรงและรักษายาของระบบทางเดินอาหาร”

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยในกลุ่มมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งระบบทางเดินอาหารที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาที่มีมูลค่าสูงในการรักษา แต่ผู้ป่วยยังไม่สามารถเข้าถึงยาดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้บริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายจึงมีความประสงค์บริจาคยาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับให้มีการกระจายยาและกำกับติดตามการใช้ยาให้เหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของผู้บริจาคและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย กรมการแพทย์ จึงได้ร่วมกับ สปสช. และ อภ. เพื่อดำเนินการบริหารจัดการยาร่วมกันทั้งระบบ ตั้งแต่การขออนุญาตนำเข้ายา การเก็บรักษา การกำกับดูแลการใช้ยาและติดตามประเมินผล ที่นำมาสู่การลงนามความร่วมมือในวันนี้

ทั้งนี้ยาบริจาคที่มีมูลค่าสูงในครั้งนี้มี 2 รายการ คือ 1.ยาอิมาทินิบ (Imatinib) ขนาด 100 มิลลิกรัม เป็นยาบัญชียาหลักแห่งชาติ รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอิลอยด์ และโรคมะเร็งร้ายแรงและรักษายากของระบบทางเดินอาหาร ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ทั้งหมด 2,122 ราย เป็นจำนวน 12,139 กล่อง โดยคิดเป็นมูลค่ายารวม 954,132,402 บาท และ 2.ยานิโลตินิบ (Nilotinib) ขนาด 200 มิลลิกรัม เป็นยาบัญชียาหลักแห่งชาติ รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอิลอยด์ ปัจจบันมีผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานี้ 440 ราย เป็นจำนวนยาที่ต้องใช้ 4,850 กล่อง โดยคิดเป็นมูลค่ายารวม 391,426,581 บาท  ทั้งนี้เมื่อรวมยามูลค่าสูงที่ได้รับบริจาค 2 รายการ รวมเป็นมูลค่ายาสูงถึง 1,345,558,983 ล้านบาท

“การลงนามวันนี้ กรมการแพทย์ในฐานะฝ่ายวิชาการได้ทำหน้าที่แทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการลงนามเพื่อรับการบริจาคยาจากผู้ผลิตและนำเข้าครั้งนี้ และ สปสช.ทำหน้าที่บริหารจัดการยาให้กับผู้ป่วย ส่วน อภ.ทำหน้าที่ในการจัดเก็บและกระจายยา ทั้งนี้เป็นความร่วมมือเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งซึ่งต้องใช้ยาที่มีมูลค่าสูงและไม่มีกำลังซื้อยาได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ด้าน ภก.เนตรนภิส กล่าวว่า ความสำคัญของการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการจัดระบบในการรับบริจาคยาที่มีมูลค่าสูง โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบในภารกิจต่างๆ ที่ชัดเจน จะส่งผลดีต่ออนาคตซึ่งจะมีโรคยากๆ ที่ต้องใช้ยาราคาแพง เพราะจะทำให้มีกลไกรองรับ ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริจาคยาว่า ยาที่ได้รับมอบไม่ได้รั่วไหลหรือหายไปไหน มีการนำไปให้กับผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจริง โดยเราจะมีการติดตามรายงานและประเมินผลต่อเนื่อง

สำหรับในส่วนยากลุ่มนี้ยอมรับว่ามีราคาแพงมาก ตกเม็ดละ 5,000-10,000 บาท ทำให้ประชาชนเข้าถึงยากมาก ซึ่งที่ผ่านมาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในกรณียาแพงก็จะพยายามจัดหาและต่อรองราคายาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึง หากไม่ได้ก็จะมีวิธีอื่นๆ อีก แต่ในกรณีนี้เป็นการพูดคุยผ่านมูลนิธิ โดยบริษัทผู้ผลิตยินดีที่จะบริจาคเพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เข้าถึง ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากผู้ป่วยได้รับยาแล้วยังช่วยประเทศประหยัดงบประมาณถึง 2,000 ล้านบาท เพียงแต่ภาครัฐต้องมีกลไกในการรองรับการรับบริจาคยานี้  และงานนี้กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักด้านวิชาการในการดำเนินงาน และทำงานร่วมกับ สปสช. และ อภ. ซึ่งต่อไปก็อาจมียาอื่นเพิ่มเติม

“ยาทุกรายการที่นำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะยาบัญชี จ (2) เราจะเน้นที่คุณภาพของยา ซึ่ง สปสช.จะนำตัวอย่างยาส่งตรวจยังสถาบันตรวจสอบคุณภาพยา ที่เดียวกับผู้ผลิตยาดังกล่าวส่งตรวจสอบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันรับรองว่า ยาที่ใช้ในระบบมีคุณภาพมาตรฐาน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ยาบริจาคที่มีมูลค่าสูงมีมานานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาในการขอรับบริจาคจะขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน แต่ละองค์กรที่ร้องขอ แต่การจัดการร่วมแบบนี้จะทำให้มีความชัดเจน และระบบเพื่อรองรับในระยะยาว