ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รก.ปลัด สธ.หารือ รก.เลขาธิการ สปสช.ได้ข้อสรุป นำงบสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐของ อภ. ช่วยเหลือเบื้องต้นบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการไปก่อน ระหว่างรอความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายหลักประกันสุขภาพ พร้อมนำเสนอเข้าบอร์ด สปสช.พิจารณา 3 ส.ค.นี้ ยืนยันการช่วยเหลือบุคลากรที่ได้รับความเสียหายเป็นสิ่งที่ดี พร้อมเตรียมเสนอกฤษฎีกาตีความกฎหมาย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลัง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบให้ สปสช.และ สธ.หารือการหาแนวทางเยียวยาบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการว่า ในเรื่องนี้ จากการนำเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี มี ผู้ตรวจการอัยการ จากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อครั้งที่ผ่านมานั้น กรรมการเห็นตรงกันว่า การช่วยเหลือผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และทำให้ระบบบริการสุขภาพเดินหน้าไปได้ บุคลากรมีความมั่นคง และรู้สึกว่ามีขวัญกำลังใจ แต่เมื่อผลการตีความออกมาว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยังไม่ชัดเจนว่า บอร์ด สปสช.จะออกหลักเกณฑ์ดำเนินการเรื่องนี้ได้ แต่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี จึงเสนอว่าควรมีการแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายฉบับอื่น เพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการได้

“ซึ่งในระหว่างรอการแก้ไขกฎหมายนี้ สปสช.ได้หารือกับ นพ.อำนวย กาจีนะ รักษาการปลัก สธ. ได้ข้อสรุปว่า จะเตรียมงบประมาณจากงบสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) มาใช้สำหรับเป็นงบประมาณช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายไปก่อน ซึ่งจะเสนอบอร์ด สปสช.พิจารณาในวันที่ 3 ส.ค.นี้ หากบอร์ดมีมติอนุมัติ ก็สามารถดำเนินการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกระงับการเงินตามคำสั่งไปก่อน เชื่อว่าจะช่วยเยียวยาและสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขได้” นพ.ประทีป กล่าว

ทั้งนี้จากรายงานข้อมูลการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ให้บริการในปี 2557 ของ สปสช. มีจำนวน 420 ราย ในจำนวนนี้ เสียชีวิต 3 ราย พิการ 2 ราย บาดเจ็บ 415 ราย จำนวนเงินที่จ่ายทั้งหมด 5,199,100 บาท ประเภทความเสียหายสูงสุด 5 อันดับ คือ ติดเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยกระทำ เข็มฉีดยาตำ อุบัติเหตุรถส่งต่อ และสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยเอดส์ ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายสูงสุด คือ พยาบาลวิชาชีพ รองลงมาคือ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ และแพทย์ และยังพบใน เภสัชกร ลูกจ้าง เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พนักงานขับรถ พนักงานเปล วิสัญญีแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ ด้วย