ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออัษฎา” เผย รพ.ชลบุรี ต้นแบบ รพ.คุณธรรม ผลักดันสำเร็จเป็นรูปธรรม หลังใช้เวลา 2 ปี สร้างอัตลักษณ์ “ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และมีน้ำใจ” ช่วยเพิ่มความโปร่งใส ลดการร้องเรียน ประหยัดงบลงได้ แถมมีกระแสตอบรับจาก รพ.และหน่วยงานนอก สธ. ขยายองค์กรคุณธรรมเพิ่ม พร้อมระบุการทำความดีและมีน้ำใจเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในคนไทย ไม่ใช่เรื่องยาก

นพ.อัษฎา ตียพันธ์

นพ.อัษฎา ตียพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดำเนินโครงการโรงพยาบาลคุณธรรม กระทรวงสาธารณสุข ว่า รพ.ชลบุรีได้ดำเนินโครงการ รพ.คุณธรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ซึ่งโครงการนี้แม้ว่าจะมีหลายคนอยู่เบื้องหลัง แต่ผู้ที่จุดกระแสคือ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ที่ได้ยกต้นแบบองค์กรคุณธรรมโดยยึดต้นแบบจากโรงเรียนบางมูลนาก จ.พิจิตร ซึ่งทำแล้วเห็นผลดี นักเรียนมีกิจกรรมต่างๆ และมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น จึงน่าที่จะขยายใช้กับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ได้ จึงเห็นว่าน่าสนใจและลองนำมาทำดู และเชิญทางโรงเรียนบางมูลนากมาบรรยายวิธีการและรูปแบบเพื่อสานต่อ เบื้องต้นจึงได้ทำเป็นอัตลักษณ์ รพ.ขึ้นมา และจากนั้นได้มีการจัดทำแนวปฏิบัติให้กับทุกคนในองค์กร

ทั้งนี้หลังจากที่ รพ.ชลบุรีได้ทำเรื่องนี้ระยะหนึ่ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการชูนโยบายการสร้างธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและทำให้หน่วยงานเดินหน้าไปด้วยดี จึงสนับสนุนการสร้าง รพ.คุณธรรมเพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่สำคญทำให้บุคลากรภายใน รพ.ยึดถือในเรื่องธรรมภิบาล ดังนั้นจึงได้มีนโยบายโดยให้แต่ละ รพ.ในสังกัด สธ. นำ รพ.ชลบุรี เป็นแบบอย่างในการผลักดัน รพ.คุณธรรม

นพ.อัษฎา กล่าวว่า ในส่วนของ รพ.ชลบุรี หลังทำเรื่องนี้ ได้รับกระแสตอบรับที่ดี ไม่เพียงแต่คนในองค์กรเท่านั้น แต่ยังได้รับการตอบรับจาก รพ.สังกัด สธ. ด้วยกัน โดยได้เชิญให้ตนไปบรรยายแนวทางดำเนินการ เพื่อผลักดันให้เกิด รพ.คุณธรรมตามนโยบายของปลัด สธ. ส่งผลให้ขณะนี้มีหลายสิบ รพ. ที่ได้ทำเรื่อง รพ.คุณธรรมอย่างจริงจัง และมี รพ.อีกหลายแห่งที่กำลังเริ่มทำ ไม่วาจะเป็นในกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เรียกว่ากระจายไปทั่ว สธ.แล้ว

ในการสร้าง รพ.คุณธรรมที่ รพ.ชลบุรีนั้น นพ.อัษฎา กล่าวว่า ได้เน้นให้ทุกคนใน รพ.เข้ามีสวนร่วม ซึ่งในการคิดอัตลักษณ์การเป็น รพ.คุณธรรม ได้ให้ทุกคนร่วมแสดงความเห็นว่า รพ.คุณธรรมควรมีลักษณะอย่างไร และต้องมีอะไรบ้างจึงจะทำให้เกิด รพ.คุณธรรมขึ้น ซึ่งทุกคนต่างช่วยกันสรุปและได้มา 3 คำ ที่เป็นแนวทางปฏิบัติ คือ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และมีน้ำใจ ซึ่งพอได้ 3 คำนี้ก็ให้แต่ละกลุ่ม แต่ละแผนก ไม่ว่าจะเป็นด้านบริหาร ธุรรการ งานบริการ รวมถึงวิชาชีพต่างๆ ใน รพ. นำไปคิดว่า ในหน้าที่ของตนจากคำ 3 คำนี้เราจะทำอะไรได้บ้างและกำหนดแนวทางปฏิบัติกันเอง เช่น งานพัสดุจัดซื้อจัดจ้างต้องไม่เรียกรับสินบนใดๆ ไม่มีการฮั้วหรือล๊อกสเปคจัดซื้อให้บริษัทใดพิเศษ ซึ่งหลัง 2 ปี ไม่เพียงทำให้จัดซื้อจัดจ้างถูกลง รพ.ประหยัดงบประมาณได้ปีละหลายสิบล้านบาท เพราะมีการตัดประโยชน์ส่วนตนออก แต่ยังทำให้เกิดความสามัคคีเพิ่มขึ้น จากความโปร่งใจ เชื่อใจกัน ทำให้เกิดการช่วยเหลือกัน ลดการร้องเรียน และได้รับการยกย่องชมชนจากหน่วยงานต่างๆ

“หลังดำเนิน รพ.คุณธรรม จากเดิมที่ รพ.เคยมีปัญหาการร้องเรียนต่างๆ ไปยังศูนย์ดำรงธรรม ปรากฎว่าการร้องเรียนลดลงอย่างมากและดีขึ้น รพ.ชลบุรีแทบจะไม่มีการรร้องเรียนเลย เพราะทุกคนต่างรู้สึกการมีคุณค่าในตนเองและคนอื่นๆ ทำให้ต่างมีควาสุขในการทำงานมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อการทำงานและการดูแลประชาชน” ผอ.รพ.ชลบุรี กล่าวและว่า เรื่อง รพ.คุณธรรม ทำได้ไม่ยากเพราะการทำความดี ทุกคนก็อยากทำอยู่แล้ว แต่อาจต้องมีการเริ่มต้นก่อน และพอทำได้ซักระยะทุกคนก็จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำและกลายเป็นการทำความดีจนเป็นความเคยชิน ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขต่างมีจิตใจที่ทำดีอยู่แล้วเพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มาทำงานนี้

นพ.อัษฎา กล่าวว่า ส่วนภาพรวมการดำเนิน รพ.คุณธรรมของ สธ.นั้น ผู้ที่เริ่มผลักดันคือ นพ.ณรงค์ และได้ถูกย้ายไปปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีการประเมินและสานต่ออย่างไร แต่เชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้งในระดับล่างเรื่องนี้ได้จุดติดและมีการปฏิบัติไปแล้วพอควร นอกจากนี้ที่ผ่านมายังได้มีการขยายโดยชวน รพ.เอกชนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงานภาครัฐและช่วยลดปัญหาในระบบสาธารณสุขได้

นอกจากนี้ นพ.อัษฎา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินโครงการ รพ.คุณธรรม นอกจากการเน้นบุคลากรใน รพ.แล้ว ยังมีการทำในเรื่องจิตอาสาที่ส่งเสริมให้ทุกคนร่วมทำความดีและมีน้ำใจที่เป็นสิ่งที่ดีและมีอยู่แล้วในคนไทย ซึ่งในช่วงที่เดินทางไปประเทศไต้หวันเพื่อดูงานจิตอาสาหรือที่เรียกว่าฉือจี้ ยังได้ชื่นชมคนไทยในเรื่องนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม แต่เสียดายที่กำลังหายไปเพราะไปเน้นในวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้ช่วยกันทำเรื่องนี้กลับมาเพราะถือเป็นอัตลักษณ์ที่ดีของคนไทย