ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากเวทีเสวนาเรื่อง "เจาะลึก : เปลี่ยนแปลงวิธีคิดการใช้ประโยชน์ R2R" ในงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย หรือ Routine to Research (R2R) ครั้งที่ 8 ประจำปี 2558 “สร้างสรรค์สู่การเปลี่ยนแปลง” โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า กว่า 7-8 ปี ในการสนับสนุนให้งานวิจัย R2R เป็นเครื่องมือในการผลิตความรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพนั้น พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เช่น R2R เป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงบุคลากรสาธารณสุข โดยเป็นการศึกษาวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างาน บางมหาวิทยาลัยบรรจุเรื่อง R2R เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในหลักสูตร รวมไปถึงหน่วยงานระดับชาติ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมรับให้ R2R เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและร่วมสนับสนุนผลักดัน เป็นต้น

“ปัจจุบันมีความต้องการให้คนทำงาน R2R มาช่วยตอบโจทย์ปัญหาในระดับนโยบาย หรือ Routine to Policy (R2P) ที่มีผลกระทบกว้างขวางมากขึ้น เพราะที่ผ่านมางานวิจัย R2R สามารถช่วยในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงงานบริการในสถานพยาบาลได้ดี หากจะมีการใช้ข้อมูลและความรู้จากงานวิจัย R2R มาสู่ R2P เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย เชื่อว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขสามารถที่จะพัฒนาไปให้ถึงเป้าหมายนี้ได้” ผอ.สวรส. กล่าว

นพ.พีรพล กล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญด้านหนึ่งของการวิจัย R2R คือ ผู้กำหนดนโยบายมีความต้องการคำตอบจากงานวิจัยเพื่อใช้ได้ทันกับสถานการณ์ปัญหา ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการอันสั้น จึงกลายเป็นข้อจำกัดด้านเวลาของนักวิจัย ดังนั้นในการดำเนินการผู้กำหนดนโยบาย นักวิจัย และผู้จัดการงานวิจัย ต้องประสานความร่วมมือเพื่อตั้งโจทย์วิจัยและสื่อสารความต้องการของงานวิจัยให้ชัดเจนที่จะนำมาใช้ประโยชน์และนำไปปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะผู้จัดการงานวิจัยต้องสนับสนุนในการแปรผลและเชื่อมโยงการสื่อสารให้เกิดการใช้งาน ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกับการทำงานวิจัย R2R เช่น การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ความเพียงพอของงบประมาณ เป็นต้น

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความพยายามที่จะผลักดันให้เขตบริการสุขภาพและระดับจังหวัด พัฒนาคุณภาพมาตรฐานระบบบริการ ซึ่งเป็นนโยบายการทำงานสำคัญของกระทรวงฯ โดยให้ร่วมค้นหาช่องว่างของปัญหาเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย แต่ยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร หากมีการพัฒนา R2R มาใช้กับงานที่เป็นนโยบายจากกระทรวงฯ ในพื้นที่ได้ น่าจะช่วยลดปัญหาอุปสรรคของการทำงาน ตลอดจน R2R จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหานโยบายที่ทำให้การนำไปสู่การปฏิบัติเกิดขึ้นได้จริง เช่น การวิจัยเพื่อนำผลสรุปมาพัฒนาระบบบริการของพื้นที่

“ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของ R2R คือ ต้องไม่ทำให้เรื่อง R2R เป็นเรื่องไกลตัว การสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นในการทำงาน ต้องมีแผน มีงบประมาณ และบุคลากรดำเนินการที่ชัดเจน ทั้งนี้ R2R เป็นภาพย่อยในเป้าหมายใหญ่ของกระทรวงที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดงานวิจัย โดยกระทรวงฯ พยายามผลักดันให้มีกฎหมายวิจัยตั้งแต่ในระดับพื้นฐานจนถึงการวิจัยระบบอย่างครบวงจร” นพ.อำนวย กล่าว

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช. เสนอว่า หัวใจหลักของ R2R เป็นเรื่องของข้อมูลและความเข้าใจระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งควรทำให้เป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งสำคัญคือต้องตั้งโจทย์วิจัยที่ดี เป็นเรื่องของหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based) และเป็นเรื่องสร้างกรอบความคิด (Mind Set) ของสังคมให้ฝึกตั้งคำถาม ทั้งนี้ อยากให้พัฒนา R2R ต่อยอดไปจากปัจจุบันสู่การเป็น R2P ทั้งในด้านการใช้ R2R เพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือการสร้างปฏิบัติการทางสังคม เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนนโยบาย (Policy) และปฏิเสธไม่ได้ที่ R2R ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง (Politic) ที่เป็นกลไกสำคัญทางนโยบาย

“นอกจากนี้ ควรพัฒนา R2R ให้ขยายวงออกไปให้ไกลกว่าแวดวงสาธารณสุข เพื่อการพัฒนาสังคมและประเทศในด้านอื่นๆ ได้ด้วย และหากจะให้ R2R ก้าวหน้าไปได้จำเป็นต้องมีระบบสนับสนุน เช่น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับต่างประเทศ การมีระบบงบประมาณ มีแผนงาน ระบบข้อมูลสารสนเทศ ระบบอภิบาล และหน่วยงานต่างๆ ต้องเข้ามาร่วมกันทำงาน” รองเลขา สปสช. กล่าว

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า  คุณค่าและความหมายของงานวิจัย R2R คือ การสร้างคนหน้างาน ให้มีบทบาทสำคัญในสร้างความรู้ไปสู่การเปลี่ยนใจและเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหาร และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานะองค์กรในระดับต่อไป ทั้งนี้ หากจะยกระดับงานวิจัย R2R ให้ก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับมหภาคหรือระดับประเทศต่อไปในอนาคต คนทำงานจำเป็นต้องอาศัยหลักคิดที่ว่า “เกาะติด คิดต่อเนื่อง เชื่อมสัมพันธ์ ประสานสิบทิศ สื่อสารภารกิจรุก-รับอย่างมั่นคง”