ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอประเวศ” ปาฐกถาพิเศษ ชี้ “หมอครอบครัว” หัวใจสำคัญระบบสุขภาพประเทศไทย เน้นดูแลตนเอง ครอบครัว และดูแลชุมชน ลดภาวะเจ็บป่วยและช่วยเข้าถึงการรักษา เน้นหัวใจความเป็นมนุษย์ดุจญาติและครอบครัว พร้อมแนะการดำเนินงานสุขภาพต้องยึดประชาชนเป็นหลัก มองความจริง ไม่ยึดมั่นจำกัดบริการเฉพาะแค่สถาบันหรือวิชาชีพ ไม่ควรถือลัทธิวิชาชีพ แม้ไม่ใช่แพทย์ แต่พยาบาล หมออนามัย พนักงานผดุงครรภ์ ก็ทำหน้าที่รักษาได้ ยกตัวอย่างทหารเสนารักษ์ ที่กองทัพผลิตเป็นผู้ช่วยแพทย์ เมื่อหมดประจำการก็ช่วยดูแลประชาชนได้

นพ.ประเวศ วะสี

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษ “สุขภาพตนเองสู่สุขภาพชุมชน” ในงานมหกรรมวิชาการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ปี 2558 “หมอครอบครัว ประชาชนอุ่นใจ มีญาติทั่วไทยเป็นทีมหมอครอบครัว” ว่า โครงสร้างใดๆ ที่มั่นคง ฐานรองรับจะต้องกว้างและแข็งแรงเช่นเดียวกับเจดีย์ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาเป็นเพราะไปเน้นการสร้างจากยอดเจดีย์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา และการเมืองที่เน้นการเมืองระดับชาติ ทำให้ประเทศย่ำอยู่กับที่ แต่ในด้านระบบสุขภาพโชคดีที่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบรรพชนคนสาธารณสุขได้มองเห็นความสำคัญและพัฒนาระบบปฐมภูมิที่เป็นฐานะระบบสุขภาพมาช้านาน ทำให้ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่ทั่วถึงที่สุด มีโรงพยาบาลทุกอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพทุกตำบล และยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ล้านคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มุ่งเน้น “การดูแลตนเอง การดูแลครอบครัว และการดูแลชุมชน” ที่ฐานของระบบสุขภาพ และหมอครอบครัวก็อยู่ในเรื่องนี้

นพ.ประเวศ กล่าวว่า ในการดำเนินงานด้านสุขภาพ สิ่งที่ต้องคำนึงที่สุดคือการนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชน มีประชาชนเป็นที่ตั้ง ดูว่าประชาชนอยู่ที่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ชุมชน ตำบล ไม่ใช่ รพ.ศิริราช หรือ รพ.รามาธิบดี ทำอย่างไรให้การบริการไปถึงประชาชน และต้องไม่ยึดมั่นจำกัดการให้บริการเฉพาะสถาบันหรือวิชาชีพ ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะหลายท่านอาจไม่ทัน เพราะย้อนหลังหลายสิบปี วงการแพทย์ไทยสอนประชาชนว่าเป็นอะไรอย่ารักษาตัวเองก่อน ให้ไปหาแพทย์ หนังสือสุขศึกษาที่สอนนักเรียนทั้งประเทศก็เขียนอย่างนี้ ส่วนการดีเบตว่าคนที่ไม่ใช่แพทย์สามารถรักษาได้หรือไม่ เช่น พยาบาล เจ้าหน้าที่อนามัย และพนักงานผดุงครรภ์ ได้ใช้เวลา 10 ปีเพื่อโต้เถียงกันเรื่องนี้ ซึ่งทุกวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ต่างเป็นปัญหา ที่เป็นเช่นนี้เพราะยึดถือสถาบันเป็นที่ตั้ง ถือลัทธิวิชาชีพเป็นหลัก

 “ในระบบบริการสุขภาพควรยึดถือประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะเรามีประชาชนที่อยู่ห่างไกลและจำเป็นต้องเข้าถึงบริการ หากยึดเพียงใบประกอบวิชาชีพ ผู้ป่วยในพื้นที่เหล่านั้นอาจตายได้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้แต่กองทัพเองก็ยังช่วยผลิตผู้ช่วยแพทย์โดยเป็นทหารเสนารักษ์ ซึ่งหลังหมดประจำการคนเหล่านี้ก็ดูแลสุขภาพประชาชนได้ โดยในช่วงที่ผมอยู่ในป่า จ.กาญจนบุรี เป็นมาลาเรียก็ได้ทหารเสนารักษ์รักษา เพราะพื้นที่นั้นไม่มีแพทย์ ดังนั้นเราต้องมองความจริง อย่ายึดเพียงแค่สถาบันนิยมหรือลัทธิวิชาชีพ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการดูแลตนเอง การดูแลครอบครัว และการดูแลในชุมชนเป็นสำคัญที่เป็นระบบสุขภาพชุมชน” ราษฎรอาวุโส กล่าว

นพ.ประเวศ กล่าวว่า การสร้างระบบสุขภาพชุมชนมีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนาอย่างบูรณาการ การมีสัมมาอาชีพเต็มพื้นที่ เพราะระบบสุขภาพไม่จำกัดเพียงแค่ ยา หมอ และโรงพยาบาลเท่านั้น แต่มีเรื่องอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และนโยบายสาธารณะ ดังนั้นการพัฒนาชุมชน การพัฒนาสังคมจึงเป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพ 2.เป็นสังคมไม่ทอดทิ้งกัน โดยท้องถิ่นทำการสำรวจว่ามีใครถูกทอดทิ้ง และจัดอาสาสมัครเพื่อดูแล โดยมีกองทุนสุขภาพตำบลที่สนับสนุนโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันท้องถิ่น 3.ดูแลการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อย ที่พบบ่อย เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และเป็นหวัด ไม่ต้องพบแพทย์ แต่ให้มีระบบดูแลโดยสุขภาพชุมชน เพื่อช่วยลดการรักษาใน รพ.และมีคุณภาพมากขึ้น

4.เน้นดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ต้องครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะเป็นพื้นฐานที่ส่งต่อพยาธิวิทยาของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคสมอง เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วย 5.ดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งขณะนี้หลายท้องถิ่นที่สนับสนุนการฝึกเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการจัดรถพยาบาลฉุกเฉินรองรับ 24 ชั่วโมง 6.จัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เชื่อมโยงตั้งแต่ระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยดึงชุมชนเข้ามีส่วนร่วม 7.ป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งชุมชนเข้มแข็งจะมีบทบาทมากในเรื่องนี้ และ 8.สร้างเสริมสุขภาพประชาชน โดยมี อสม. นักบริบาลที่คอยดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้การดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง

นพ.ประเวศ กล่าวว่า ส่วนลักษณะของหมอครอบครัวจะต้องมีคุณสมบัติ มีหัวใจความเป็นมนุษย์ ใส่ใจการดูแลคนไข้และญาติ ซึ่งเป็นสิ่งขาดไปในโรงพยาบาลระดับสูง โดยหมอครอบครัวจะเข้ามาสนับสนุนตรงนี้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลดุจญาติและครอบครัว ซึ่งจะมีผลต่อจิตใจผู้ป่วย มีส่วนทำให้โรคหายง่าย มีความรู้รอบตัว ในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ดูแลสุขภาพประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ทำหน้าที่บูรณาการและเชื่อมต่อระบบสุขภาพชุมชน หน่วยระดับต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของหมอครอบครัว และทุกคนควรมีจิตวิญญาณความเป็นหมอครอบครัว

“เราเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษยต่างจากสัตว์ที่เข้าสู่สิ่งสูงสุดได้ คือ ความจริง ความดี ความงาม และในระบบสุขภาพ เราต้องสร้างระบบสุขภาพที่เป็นสิ่งสูงสุด ที่เชื่อมโยงระบบและประชาชนทั้งมวลเข้าถึงได้ โดยมีคุณภาพดี มีประสิทธิภาพ ดังนั้นระบบสุขภาพที่เราพูดถึงและที่ สธ.ผลักดันขณะนี้ คือระบบสุขภาพพื้นฐานที่เป็นฐานกว้างใหญ่ทั้งหมด ยังประโยชน์ให้ประชาชนมีคุณภาพที่ดี เป็นสิ่งสูงสุดในระบบสูขภาพแล้ว” นพ.ประเวศ กล่าว