ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยประสบความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในระดับต้นๆ ของโลก อัตราการติดเชื้อลดจากร้อยละ 20-45 เหลือเพียงร้อยละ 2.1 ในปี 2557 ประสานองค์การสหประชาชาติรับรอง เน้นการให้คำปรึกษา ฝากครรภ์เร็ว เจาะเลือดตรวจหาเชื้อฯ และให้ยาต้านไวรัสสูตรรวม 3 ตัว ทั้งแม่และเด็ก ให้กินนมผงแทนนมแม่  

วันนี้ (5 สิงหาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย และนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าว “ความสำเร็จการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก” ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกของโลกที่จะยุติปัญหาการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ อัตราการถ่ายทอดเชื้อฯ จากแม่สู่ลูกล่าสุดในปี 2557 อยู่ในระดับต่ำมาก เพียงร้อยละ 2.1 ใกล้เป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2  ภายใน พ.ศ.2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับองค์การสหประชาชาติคือ องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ เพื่อประกาศรับรองความสำเร็จ 

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ไทยพบการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ปี 2531 และได้ดำเนินโครงการป้องกันยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก หากไม่มีการป้องกัน จะมีเด็กติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สูงถึงร้อยละ 20-45  ตั้งเป้าลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อให้น้อยกว่าร้อยละ 2 ภายในปี 2560  โดยให้สถานบริการของรัฐดำเนินงานป้องกันผสมผสานระบบบริการของโรงพยาบาล รณรงค์ให้หญิงฝากครรภ์เร็วขึ้นก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ บริการให้คำปรึกษาและเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจ ให้ยาต้านไวรัสสูตรรวม 3 ตัวในรายที่ติดเชื้อ ส่วนเด็กให้กินนมผสมทดแทนนมแม่เป็นเวลา 18 เดือน และตรวจการติดเชื้อตั้งแต่แรกคลอดให้การรักษาเร็วที่สุด เพื่อกดระดับไวรัสในกระแสเลือดไม่ให้แพร่ติดต่อ

ผลการดำเนินงานปี 2557 มีความก้าวหน้าในระดับน่าพอใจ พบว่าอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกอยู่ที่ร้อยละ 2.1 กล่าวได้ว่า เด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี 100 คน จะมีติดเชื้อจากแม่เพียง 2 คน อีก 98 คนปลอดภัย โดยทารกแรกเกิดที่เกิดจากแม่ติดเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองเอชไอวีขั้นยืนยันในช่วงสองเดือนแรกสูงถึงร้อยละ 76  เป็นความหวังการนำไปสู่เป้าหมายการรักษาที่ดีเยี่ยม ในปีงบประมาณ 2558 จึงเพิ่มกลยุทธ์เชิงรุก โดยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อให้ได้รับยาสูตรรวม 3 ตัวที่มีประสิทธิภาพสูง เร็วที่สุด ไม่คำนึงถึงอายุครรภ์และระดับซีดีโฟว์ ให้กินยาหลังคลอดต่อเนื่อง และตรวจเลือดทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อโดยเร็วที่สุด พัฒนาศักยภาพศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตรวจอย่างครบวงจร เริ่มให้ยาทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด มีระบบติดตามให้กินยาต่อเนื่องเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ให้เด็กกินนมผสมจนกระทั่งอายุ 18 เดือน 

จัดงบประมาณซื้อนมผง 24 ล้านบาท และขยายความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ส่วนแรงงานข้ามชาติได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทย สนับสนุนค่ายา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพิ่มการขายบัตรประกันสุขภาพ ผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 พบว่า มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อร้อยละ 0.61  หรือประมาณ 4,800 คน จากหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศที่มีปีละประมาณ 800,000 คน เข้าถึงบริการยาต้านไวรัสร้อยละ 95 ทารกที่เกิดจากแม่ติดเชื้อได้รับการตรวจเชื้อตั้งแต่แรกเกิดและได้รับการรักษา จำนวน 69 ราย และสามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตร 3 ตัวครบ 6 เดือน จำนวน 26 ราย จากการตรวจประเมินโดยทั่วไป พบว่าเด็กมีร่างกายที่แข็งแรง พัฒนาการดี สามารถกดจำนวนไวรัสได้อย่างน่าพอใจ 

จากการดำเนินการดังกล่าว องค์การสหประชาชาติได้เสนอชื่อประเทศไทย เข้าสู่กระบวนการขอการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกเป็นประเทศแรกๆ ในโลก การประเมินดังกล่าวจะมี 3 ส่วนคือ 1.ระบบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก 2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3. ด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าหมายในภาพรวมคือ อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกน้อยกว่าร้อยละ 2 ซึ่งคาดว่าทางสหประชาชาติสามารถตรวจสอบข้อมูลในการประเมินทั้งหมดภายในสิ้นปี 2558  

ทั้งนี้โอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อเอดส์จากแม่มี 3 ช่วงคือ 1.ขณะอยู่ในครรภ์แม่ เชื้อจะผ่านทางรกเข้าสู่ลูก ป้องกันได้โดยให้ยาต้านไวรัสเอดส์แก่แม่แต่เนิ่นๆ และควรได้รับมากกว่า 4 สัปดาห์ก่อนคลอด 2 .ระหว่างการคลอดหรือ 1-2 สัปดาห์ก่อนคลอด เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการติดเชื้อ เป็นสาเหตุถึงร้อยละ 50-60 โดยเชื้อเข้าสู่ตัวลูกระหว่างมดลูกบีบรัดตัว ตอนเจ็บท้องคลอดหรือมีเลือดแม่ปนเปื้อนตัวเด็กขณะคลอด การป้องกันในช่วงนี้อาจทำได้โดยวิธีการทำคลอดที่ทำให้มีการปนเปื้อนเลือดแม่น้อยที่สุด เช่น การผ่าตัดทำคลอดทางหน้าท้อง การล้างตัวเด็กให้เร็วที่สุดหลังคลอด และ 3.การให้นมแม่ เป็นสาเหตุติดเชื้อประมาณร้อยละ 14 เชื้อผ่านทางน้ำนมของแม่เข้าสู่ปากและทางเดินอาหารของลูก หากใช้นมผงเลี้ยงแทนนมแม่ตั้งแต่เกิด จะลดอัตราการติดเชื้อลงได้ 

สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ของไทย รายงานล่าสุดในปี 2557 คาดประมาณว่ามีผู้มีเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตประมาณ 446,154 คน และมีผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในระบบบริการสุขภาพ 258,183 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4,498 คน