ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ผ่านรับรองมาตรฐาน ISO 9001 ฉบับที่ 4 แล้ว หลังผ่านการรับรองฉบับที่ 1 ตั้งแต่ปี 49 ตามมาตรฐานไอเอสโอตรวจสอบระบบบริหารคุณภาพ ชี้ระบบคุณภาพของ สปสช.เป็นไปตามกระบวนการบริหาร มีการจัดการวางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ และปรับปรุง จุดแข็งวิเคราะห์ข้อร้องเรียนและแก้ไข ส่งผลให้เกิดการดูแลประชาชนและหน่วยบริการอย่างมีคุณภาพ พร้อมระบุรูปแบบบริหารแยกกองทุนย่อย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ แถมลดภาระค่าใช้จ่ายหน่วยบริการกลุ่มโรคที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายสูง แนะ สปสช.เพิ่มการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลในระบบ ทั้งในแง่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงระบาดวิทยา ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด

นายวันชัย จิราพฤกษ์ภิญโญ

นายวันชัย จิราพฤกษ์ภิญโญ เจ้าหน้าที่อาวุโสตรวจสอบระบบรับรองมาตรฐาน สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) กล่าวถึงผลการตรวจรับรองการบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามมาตรฐาน ISO 9001 ว่า จากการตรวจสอบการบริหารพบว่า สปสช.ได้มีการออกแบบกระบวนบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เป็นไปตามรูปแบบวงจรเดมิ่ง หรือที่เรียกว่า PDCA Cycle ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1.การวางแผน 2.ปฏิบัติตามแผน 3.ตรวจสอบปฏิบัติตามแผน และ 4.การปรับปรุงแก้ไขภายหลังจากที่ได้ตรวจสอบผลปฏิบัติงานที่ได้ผลไม่พึงพอใจ โดย สปสช.จะมีการดำเนินการปรับปรุงเพื่อแก้ไข นับเป็นการบริหารงานตามระบบสากลที่นำมาสู่การพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่ง สปสช.ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐาน ISO9001 จากอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ตั้งแต่ 13 มกราคม 2549 ถึงปัจจุบัน รวม 4 ฉบับ

นายวันชัย กล่าวว่า การตรวจสอบของ สรอ.นอกจากระบบการบริหารแล้ว ยังดูในเรื่องความคุ้มค่า ประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณที่ต้องมีประสิทธิผล ระบบการจัดการที่ต้องให้เป็นประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะกับประชาชนในฐานะที่เป็นผู้รับบริการ ซึ่ง สปสช.สามารถดำเนินการได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดแยกบริหารกองทุนย่อยต่างๆ อาทิ กองทุนยาและเวชภัณฑ์ กองทุนผู้ป่วยใน กองทุนผู้ป่วยนอก และกองทุนเฉพาะโรค เป็นต้น ที่เป็นเสมือนจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ที่ช่วยบริหารกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่ารักษาพยาบาล ทำให้การบริหารภาพรวมของกองทุนเป็นไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังมีการดำเนินกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น

“การบริหารงบของ สปสช. ดำเนินการบนฐานข้อมูลเดิมของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นความชุกของโรค ข้อมูลระบาดวิทยา เป็นต้น ประกอบกับการใช้รูปแบบกองทุนรักษาพยาบาลจากต่างประเทศมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดการ ส่งผลให้มีการออกแบบการบริหารได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการมีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน วิเคราะห์ข้อร้องเรียนและแก้ไข เช่น การส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงเป้าหมาย ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ”  

นายวันชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการให้ความสำคัญการเข้าถึงการรักษาของประชาชนแล้ว สปสช.ยังมีมิติการบริหารที่คำนึงถึงหน่วยบริการ จึงมีการปรับระบบการจ่ายงบประมาณที่สนับสนุนการบริการหน่วยบริการโดยไม่ต้องรับภาระค่ารักษาที่มากไปอย่างในอดีต อย่างเช่น การแยกกองทุนผู้ป่วยในที่จ่ายงบให้กับหน่วยบริการในการรักษา การแยกจ่ายค่ารักษาในกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น ซึ่งทำให้หน่วยบริการสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามในด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ยังมีส่วนที่ต้องเพิ่มเติม โดยเฉพาะการนำฐานข้อมูล ทั้งการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล การเบิกจ่ายจากหน่วยบริการ ที่ สปสช.ได้ติดตามและจัดเก็บไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อลดภาวะความเจ็บป่วย การจัดการด้านระบาดวิทยา นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในระบบอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง