ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยการศึกษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี พบอาสาสมัครคนไทยมีความครอบคลุมของการกินยาและกินยาสม่ำเสมอสูงสุดถึง 85% ตั้งเป้านำผลศึกษาที่ได้ค้นหาวิธีการป้องกันใหม่ที่มีประสิทธิภาพเหมาะกับกลุ่มประชากรประเทศต่างๆ ต่อไป

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการวิจัย HPTN 067 หรืออแด็พท์ (ADAPT) เป็นการศึกษาการกินยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งวัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อที่จะเปรียบเทียบการกินยาในรูปแบบที่แตกต่างกัน และค้นหาว่าการกินยาที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการทำงานของยาอย่างไร และค้นหาว่าอาสาสมัครพอใจในการกินยานี้หรือไม่ การศึกษาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 ราย จาก 3 พื้นที่ ประกอบด้วย ผู้หญิงจากเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้  ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง จากกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และจากย่านฮาร์เลม กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา  

การศึกษา HPTN 067 นี้ได้สุ่มเลือกให้ผู้เข้าร่วมศึกษาเข้ากลุ่มการกินยา 3 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 กินยาทุกวัน แบบที่ 2 กินยาโดยใช้เวลากำหนด (กินยาสัปดาห์ละ 2 ครั้งและอีก 1 เม็ดหลังการมีเพศสัมพันธ์) และแบบที่ 3 กินยาโดยใช้เหตุการณ์กำหนด (การกินยาก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์) ในการกินยาของแต่ละกลุ่ม กำหนดว่าจะต้องไม่เกินวันละ 2 เม็ดหรือไม่เกิน 7 เม็ดใน 1 สัปดาห์

นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาโครงการนี้ ได้ถูกนำเสนอโดยนักวิจัยจากเครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในการประชุมว่าด้วยพยาธิกำเนิด การรักษาและการป้องกันเชื้อเอชไอวี ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2558 ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา พบว่าประชากรชายที่มีความเสี่ยงสูงในกรุงเทพมหานคร และย่านฮาร์เลม กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มผู้หญิงในประเทศแอฟริกาใต้ มีความสม่ำเสมอดีในการกินยาทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัสเชื้อ  

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ผลของการศึกษาที่ได้วิเคราะห์แยกกันในแต่ละกลุ่ม ยังพบว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองในกรุงเทพมหานครเป็นกลุ่มที่มีระดับความครอบคลุมของการกินยาและความสม่ำเสมอในการกินยาสูงที่สุดต่อรูปแบบการกินยาแบบกินทุกวัน และการกินยาโดยใช้เวลากำหนด เมื่อเทียบกลุ่มที่กินยาสองกลุ่มนี้กับกลุ่มที่กินยาโดยใช้เหตุการณ์กำหนด พบว่าสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (85% ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่กินยาทุกวัน, 84% ในกลุ่มที่กินยาโดยใช้เวลากำหนด และ 74% ในกลุ่มที่กินยาโดยใช้เหตุการณ์กำหนด) ส่วนในกลุ่มอาสาสมัครเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในย่านฮาร์เลม นิวยอร์ก และกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อยและยังโสด ในประเทศแอฟริกาใต้ พบว่ามีเพียง 66% และ 75% ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่กินยาทุกวัน สามารถกินยาได้สม่ำเสมอ  

นพ.โสภณ ยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายของนักวิจัยจากเครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี คือ การสร้างแรงกระตุ้นเพื่อที่จะค้นหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะนำวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพนี้ เสนอให้แก่ประชากรกลุ่มต่างๆ ต่อไปในอนาคต และที่สำคัญจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ที่ใช้วิธีป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัสเชื้อ และรูปแบบการกินยาที่ต่างกันนั้น จะมีผลกระทบต่อผู้ที่ใช้วิธีป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัสเชื้ออย่างไร