ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข สปช. แจงข้อเสนอตั้ง “คกก.สุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอ” สถานะนิติบุคคล กระจายอำนาจบริหารระบบสุขภาพรูปแบบใหม่ ไม่ต้องถ่ายโอน เน้นการมีส่วนร่วมหน่วยบริการ ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ โดยมีกฎหมายรองรับ ลดบทบาทส่วนกลาง ส่งผลจัดบริการใกล้ชิดชาวบ้านมากขึ้น แก้ปัญหาสาธารณสุขพื้นที่ตรงจุด หลังผ่านสภาปฏิรูปเสียงเอกฉันท์ พร้อมเสนอ ครม. เดินหน้า 15 พื้นที่นำร่อง 

นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ

นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการจัดตั้ง “คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอ”  หนึ่งในข้อเสนอของ กมธ.สาธารณสุข เพื่อบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ และได้ผ่านความเห็นชอบต่อสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยเสียงเอกฉันท์ว่า เป็นข้อเสนอการจัดระบบสุขภาพโดยใช้กลไกพื้นที่ในการจัดการ สอดคล้องกับทิศทางระบบสุขภาพประเทศที่เน้นระบบบริการปฐมภูมิเพื่อให้เกิดบริการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นวิธีกระจายอำนาจระบบสุขภาพในรูปแบบใหม่ที่นำไปสู่การปฏิรูบบระบบสุขภาพประเทศ ด้วยการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการระดับพื้นที่/อำเภอ มีองค์ประกอบของคณะกรรมการอย่างน้อย 3 ส่วนด้วยกัน คือ ตัวแทนจากฝ่ายวิชาชีพ/หน่วยบริการ ตัวแทนท้องถิ่น/ผู้บริหารท้องถิ่น และตัวแทนประชาชน/เอ็นจีโอในพื้นที่ โดยเน้นที่การทำงานและบริหารจัดการระบบสุขภาพในพื้นที่ร่วมกัน ต่างจากการกระจายอำนาจรูปแบบเดิมที่เน้นการถ่ายโอนหน่วยบริการให้ท้องถิ่น เช่น การโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือการโอนโรงพยาบาลจังหวัดไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งมีปัญหามากและท้ายสุดการกระจายอำนาจก็ไม่เกิด

ทั้งนี้การจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอ นับเป็นโครงสร้างใหม่ในระบบสุขภาพของประเทศ โดยใช้องคาพยพที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เน้นที่ความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการระบบสุขภาพในพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การจัดบริการตรงกับความต้องการและปัญหาสุขภาพในพื้นที่มากที่สุด เป็นการช่วยกันทำงาน ลดความซ้ำซ้อน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีบางพื้นที่ได้ดำเนินการในรูปแบบนี้ได้บ้างแล้ว แต่การดำเนินงานไม่ค่อยราบรื่นและยังมีอุปสรรคในแง่กฎหมาย ดังนั้นการจัดคณะกรรมการสุขภาพระดับอำเภอจึงต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคล มีกฎหมายรองรับอำนาจการบริหาร ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น

“เกาะสมุยเป็นตัวอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอนี้ แม้มีประชากรทะเบียนราษฎร์ราว 70,000 คน แต่ด้วยเป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้มีประชากรย้ายถิ่นเข้ามามาก ประชากรในพื้นที่จึงเพิ่มเป็น 2.7 แสนคน ในจำนวนนี้มีแรงงานข้ามชาติด้วย ก่อนหน้านี้จึงเกิดการแพร่ระบาดของโรคคอตีบเด็กในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมาจากเด็กข้ามชาติที่เข้ามา ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยงอย่างมาก ดังนั้นเทศบาล โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน โรงเรียน สมาคมท่องเที่ยวเกาะสมุยและโรงแรมต่างๆ ต่างลงความเห็นต้องรณรงค์ป้องกันและฉีดวัคซีนให้กับเด็กทุกคนในเกาะสมุย ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือข้ามชาติ ทำให้ควบคุมโรคได้ภายใน 2 ปีเท่านั้น แต่กลับมีปัญหาท้วงติงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เนื่องจากเป็นการทำที่ผิดระเบียบ ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะงบประมาณนั้นถูกจำกัดให้ใช้สำหรับคนไทยเท่านั้น จะฉีดวัคซีนให้กับเด็กต่างด้าวไม่ได้ ดังนั้นหากทำโดยคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลก็ไม่เป็นปัญหา คนเกาะสมุยสามารถจัดการปัญหาของเขาได้เอง และทุกภาคส่วนตกลงปลงใจในการแก้ปัญหาร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน” รองประธาน กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าว

นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากการตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอที่เป็นจุดคานงัดแล้ว ยังมี 2 กลไกสำคัญในการผลักดันคือ กลไกทางการเงินและระบบข้อมูลเพื่อให้เกิดการจัดการบริหารร่วมกัน และประเด็นนี้ได้พูดคุยกับผู้บริหารกองทุนประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต่างเห็นด้วยกับรูปแบบ กลไกและทิศทางกระจายอำนาจโดยวิธีนี้ เพราะทำให้เกิดระบบการดูแลสุขภาพที่ใกล้ชิดชาวบ้าน โดยผู้แทนส่วนต่างๆ ที่ร่วมเป็นกรรมการจะยังคงอยู่ในหน่วยงานเดิม เพียงแต่อาจมีค่าเบี้ยประชุมให้เท่านั้น ซึ่งงบส่วนนี้สามารถดึงมาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีงบบริหารสนับสนุนอยู่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็พร้อมจ่ายสมทบ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการเดินหน้าคือการมีทีมเครือข่ายบริการ/ผู้ให้บริการอย่างไร้รอยต่อและอยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่เดินหน้าหมอครอบครัวที่ไม่ได้มีเฉพาะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่จะมีครอบครัว ชุมชน ตลอดจนเหล่าจิตอาสาที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายบริการ เป็นรูปแบบที่ดีเหมาะสมและเป็นการใช้ต้นทุนเดิมของสังคมไทยที่มีอยู่ในการดูแลประชาชน ซึ่งจะทำให้การเข้ถึงบริการในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหา อย่างกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ที่แม้มีทรัพยากรด้านสุขภาพมาก กลับพบว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพกับด้อยกว่าพื้นที่ชนบท ถือโอกาสนี้ปฏิรูป โดยการบูรณาการทรัพยากรทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน มาร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งมองประชาชนเป็นศูนย์กลาง

“ตัวอย่างง่ายๆ คนในเมืองเมื่อเจ็บป่วย เมื่อไปใช้บริการใน รพ.รัฐเจอทั้งปัญหาความแออัด การรอคอย ถ้าไปเอกชนเขาก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง ของใหม่นี่จะมีเครือข่ายที่อยู่ใกล้เขาอยู่แล้ว เช่น คลินิกเอกชนที่กระจายอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งร้านขายยาหน้าปากซอยที่ได้รับการรับรองคุณภาพและตกลงกติการร่วมกันจากคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ เขาสามารถไปใช้บริการได้ตามสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในกองทุนสุขภาพใดก็ตาม”

ส่วนการดำเนินนโยบายคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอในภาพรวมประเทศนั้น นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุขจะมองภาพรวมกลไกการบริหารจัดการทั้งหมด ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงพื้นที่โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับชาติ ระดับเขต ระดับจังหวัด มีภารกิจบทบาทที่เกื้อหนุนกันและเชื่อมโยงกัน ซึ่งความคืบหน้าของข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอ กำลังนำเสนอต่อ ครม.ในเร็วๆ นี้ โดยอยู่ระหว่างคัดเลือกพื้นที่นำร่อง15 แห่ง ได้แก่ เขต กทม. อำเภอเมืองขนาดใหญ่ และตัวแทนรูปแบบพื้นที่ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย รวมถึงพื้นที่ซึ่งท้องถิ่นมีส่วนร่วมกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนงานบริการสุขภาพให้กับประชาชน กระจายไปในทุกเขตบริการสุขภาพ

ต่อข้อซักถามว่า เป็นการลดบทบาทกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. เพราะการกำหนดนโยบายสุขภาพจากนี้จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่/อำเภอ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า จากที่รับฟังความเห็นจากเวทีต่างๆ ท้องถิ่นและพี่น้องประชาชน รวมทั้งเครือข่ายวิชาชีพ ต่างเห็นด้วยกับรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นในอีกลักษณะหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการถ่ายโอนหน่วยงานที่มีความยุ่งยาก ขณะที่บางท้องถิ่นเองก็รับถ่ายโอนหน่วยบริการทั้งหมดในพื้นที่มาดูแลไม่ไหว แต่รูปแบบนี้จะเน้นการทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าเมื่อเป็นการกระจายอำนาจก็ย่อมต้องลดอำนาจบริหารจากส่วนกลางลง โดยส่วนกลางจะทำหน้าที่กำหนดทิศทางใหญ่ๆ และดูแลควบคุมภาพรวมระบบสุขภาพของประเทศเท่านั้นในบทบาทของ Regulator ส่วนในระดับพื้นที่เป็นผู้ทำงานนักปฏิบัติการณ์ ทำหน้าที่เป็น Operator และมีความเป็นเจ้าของ Owner ซึ่งจะส่งผลให้การดูแลสุขภาพประชาชนที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และแก้ไขปัญหาได้ตรงความต้องการของพื้นที่มากกว่าการสั่งการจากส่วนกลาง   

นพ.สุวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า การปฏิรูปในทิศทางนี้ เพื่อตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้พี่น้องคนไทยทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพ สร้าง “ความตื่นรู้” ให้กับประชาชน มีความกระตือรือร้น สำนึกรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางเพื่อการจัดการสุขภาพของตนเองและชุมชนร่วมกับคณะทำงานในระดับพื้นที่