ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.เตือนโรคฉุกเฉินในผู้หญิง “หัวใจ-หลอดเลือดสมอง” คร่าชีวิตผู้หญิงอันดับต้นๆ แนะระวัง “เบาหวาน-ความดัน” ปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรคฉุกเฉิน พร้อมย้ำควรตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุขึ้นเลขสาม

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ปัจจุบันโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับต้นๆ คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง โดยโรคหัวใจและหลอดเลือด ถือเป็นโรคฉุกเฉินที่อันตรายมาก เนื่องจากไม่ค่อยมีอาการเบื้องต้น และจะเกิดโรคในปัจจุบันทันด่วน คือแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เจ็บลิ้นปี่ ร้าวไปกรามทั้งสองข้าง ลงไปที่แขนหรือมือ ซึ่งสาเหตุสำคัญก็คือ คอเลสเตอรอลสูง เป็นเบาหวานเรื้อรัง อ้วน มีความเครียด ไม่ออกกำลังกาย

ส่วนโรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิง และผู้หญิงมีอัตราการเกิดโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ที่สำคัญมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศชาย โดยโรคดังกล่าวคือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก โดยผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้ ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ซึ่งส่วนมากทุกอาการจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างฉับพลัน ดังนั้นผู้พบเห็นต้องรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ โทรสายด่วน 1669 เพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างทันที โดยต้องระลึกเสมอว่าการรักษาผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรีบส่งเข้ารักษาภายในเวลา 3 ชั่วโมง จะทำให้ผู้ป่วยจะลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือพิการ

รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า นอกจากโรคฉุกเฉิน 2 โรคแล้ว ยังมีโรคที่ถือเป็นต้นตอ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคฉุกเฉินด้วย คือ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยโรคเบาหวานจะทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ หากป่วยเป็นเบาหวาน จะยิ่งเพิ่มความอันตราย และอาจรุนแรงจนทำให้ตาบอด ไตวาย เป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ทั้งโรคหัวใจ และหลอดเลือดในสมอง

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ คือ 70-110 และควรรับประทานอาหารให้พอดี เว้นระยะห่างของอาหารแต่ละมื้อให้นาน งดเว้นอาหารประเภทหวานๆ หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวาน อาหารประเภทแป้งและไขมัน รวมทั้งไขมันจากกะทิ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 15-30 นาทีต่อวัน เพื่อให้ห่างไกลโรค

ขณะที่ความดันโลหิตสูง จะยิ่งอันตรายมากเช่นกันในผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะความดันโลหิตสูงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะใน 3 เดือนก่อนคลอด หากไม่รักษาจะเป็นอันตรายทั้งแม่และลูก หรืออาจทำให้ครรภ์เป็นพิษได้

ดังนั้นแนวทางป้องกันที่ดีอย่างหนึ่ง นอกจากรักษาสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว ทุกคนจะต้องหมั่นตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ 1 ครั้ง แต่สำหรับคนที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคร้าย เช่น มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงในการสืบทอดทางกรรมพันธุ์ ก็อาจต้องตรวจตั้งแต่อายุน้อย  และสำหรับผู้หญิง หากมีอายุตั้งแต่เลข 3 ขึ้นไป การตรวจสุขภาพถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามหากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ที่สายด่วน 1669 บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง