ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.คมชัดลึก : มหาวิทยาลัยชี้ทันตแพทย์ขาดแคลนหนักกว่าแพทย์ เหตุสถาบันอุดมศึกษาผลิตสถานพยาบาล โรงพยาบาลฝึกปฏิบัติวิชาชีพมีจำกัด อาจารย์สอนก็ขาดแคลน ด้าน มฟล.ฝากรัฐอุดหนุนงบในการผลิตทันตแพทย์ให้แก่มหาวิทยาลัย ขณะที่ ม.อ.มีแผนเพิ่ม นศ.ทันตแพทย์ เร่งสร้างความร่วมมือกับสถานพยาบาล รพ.เปิดพื้นที่ฝึกปฏิบัติวิชาชีพให้แก่ นศ.

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวถึงโครงการผลิตทันตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาทันตสุขภาวะของประชาชน (ปี 2558-2567) ว่า ขณะนี้ทันตแพทย์ถือเป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนยิ่งกว่าแพทย์ เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตมีจำกัด ด้วยเหตุเพราะการลงทุนผลิตในระยะแรกต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก อีกทั้งคณาจารย์ที่สอนก็ยังขาดแคลน ทำให้จำนวนการผลิตแต่ละปีมีน้อยมาก

มฟล.ได้เปิดการเรียนการสอนสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์โดยรับนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 จำนวน 32 คน และยังคงรับ 32 คนต่อเนื่องปีการศึกษา 2558 ทั้งนี้ เนื่องจาก มฟล.เห็นถึงความจำเป็นในการผลิตทันตแพทย์ที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่ยังมีทันตแพทย์น้อยมาก แม้แต่โรงพยาบาลอำเภอก็ยังไม่มี ที่ผ่านมา มฟล.ต้องใช้เงินรายได้ในการดำเนินการด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเห็นชอบโครงการผลิตทันตแพทยศาสตร์เพิ่มก็จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณในการผลิตเพิ่มให้แก่มหาวิทยาลัยประมาณ 3 แสนบาทต่อคนต่อปี ซึ่งในส่วนของ ม.พะเยา เท่าที่ทราบก็ผลิตตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 32 คนเช่นเดียวกับ มฟล. ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีอยู่ระหว่างดำเนินการ

รศ.ดร.ชูศักดิ์  ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ.มีแผนในการเพิ่มจำนวนสัดส่วนการรับนักศึกษาทันตแพทย์อยู่แล้ว แต่การจะเพิ่มจำนวนการรับนักศึกษาทันตแพทยได้ นอกจากต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของทันตแพทยสภาแล้ว ยังต้องมีสถานพยาบาลฝึกปฏิบัติงานให้แก่นักศึกษาด้วย ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่า สถานพยาบาล โรงพยาบาลฝึกปฏิบัติวิชาชีพมีจำนวนจำกัด รวมถึงอาจารย์ผู้สอนที่ยังขาดแคลนอยู่จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ.เปิดรับนักศึกษาปีละ 60 คน และพยายามสร้างความร่วมมือกับสถานพยาบาลเพื่อให้นักศึกษาได้มีสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน รวมถึงพยายามคัดเลือกอาจารย์ด้านทันตแพทย์ที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ของ ม.อ.ที่จะเพิ่มขึ้นในปีการศึกษา แต่จะเพิ่มจำนวนเท่าใดนั้น ต้องเป็นไปตามเกณฑ์สัดส่วนระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาตามที่ทันตแพทยสภากำหนด และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาธิการ สกอ. หรือกระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดสรรงบประมาณ รวมถึงเปิดสถานพยาบาล ฝึกปฏิบัติวิชาชีพมากขึ้น เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยในการผลิตแพทย์

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 13 สิงหาคม 2558