ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'วรวรรณ' ชี้ประเด็นงานวิจัย “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” พบตัวเลขการเสียชีวิตของแม่เพราะการคลอดสูงกว่าข้อมูลของ สธ. ข้อมูลปี 2554 พบอัตราส่วนการตายของมารดาต่ออัตราการเกิดมีชีพแสนคนของ สธ. 8.9 แต่ของทีดีอาร์ไออยู่ที่ 36.69 และเขตบริการสุขภาพที่ 12 เสียชีวิตมากที่สุด

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากการวิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” พบว่าอัตราส่วนการตายของมารดาต่ออัตราการเกิดมีชีพแสนคน (Maternal Mortality Ratio : MMR) ที่ทีดีอาร์ไอทำการศึกษา สูงกว่าตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานหลายเท่าตัว 

ดร.วรวรรณ กล่าวว่า การศึกษาของทีดีอาร์ไอ ได้ประเมินข้อมูลการเสียชีวิตของมารดา จากฐานข้อมูลผู้ป่วยใน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สํานักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) รวมถึงฐานข้อมูลการเกิดและตายจากทะเบียนราษฎรมาประมวลผล ต่างจากข้อมูลของ สธ.ที่รายงานโดยแพทย์ ซึ่งเมื่อมีการตายเกิดขึ้น แพทย์ก็ไม่ได้รายงานว่าเป็นการเสียชีวิตเพราะการคลอดทั้งหมด

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ทำการศึกษานั้นอยู่ระหว่างปี 2550-2554 แบ่งเป็น ปี 2550 MRR ของ สธ.อยู่ที่ 12.2 ขณะที่ทีดีอาร์ไอได้ตัวเลขที่ 62.51 สูงกว่า สธ.ถึง 6 เท่า ปี 2551  MRR ของ สธ.คือ 11.3 แต่ทีดีอาร์ไออยู่ที่ 58.25 ปี 2552  MRR ของ สธ.คือ 10.8 แต่ทีดีอาร์ไออยู่ที่ 46.69  ปี 2553  MRR ของ สธ.คือ 10.2 แต่ทีดีอาร์ไอคือ 45.06 และปี 2554  MRR ของ สธ.คือ 8.9 แต่ของทีดีอาร์ไออยู่ที่ 36.69

"ตัวเลขที่สูงขนาดนี้ ไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วแน่ๆ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว MRR อยู่ที่ประมาณ 5-7 ต่อแสนคน หรือหากเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง เราก็ควรทำได้ดีกว่านี้" ดร.วรวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ หากจำแนกตัวเลข MRR แบ่งตามเขตสุขภาพ พบว่าในเขตบริการสุขภาพที่ 12 หรือ ใน จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัทลุง สตูล และตรัง มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาสูงถึง 69.29 คนต่อแสนคน ซึ่งอาจมาจากปัจจัยด้านวัฒนธรรม เช่น ผู้ที่ทำคลอด ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น หรืออาจมาจากปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีปัญหาในการเดินทางมาทำคลอด

เช่นเดียวกับเขตบริการสุขภาพที่ 2 และ 3 ก็มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาในระดับที่สูง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจเพราะทั้ง 2 เขตมีโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลศูนย์หลายแห่ง ซึ่งโดยโครงสร้างแล้วปัญหานี้น่าจะต่ำแต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่

"ถ้าเทียบกับเขต 13 คือกรุงเทพฯ เขต 13 มีตัวเลขการเสียชีวิตต่ำที่สุด (25.33) ฉะนั้นเป็นผู้หญิงที่เกิดในกรุงเทพฯ กับเป็นผู้หญิงที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสการเสียชีวิตจากการคลอดบุตรมันต่างกันมากเกินครึ่ง อันนี้คือความไม่เป็นธรรม ถ้าตัวเลขมันไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยมากนักมันก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามันต่างกันมาก เราก็ควรจะหาสาเหตุได้แล้วว่าเป็นเพราะอะไร นี่คือสิ่งที่พบจากการวิจัยแต่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญมาก" ดร.วรวรรณ กล่าว

เช่นเดียวกับตัวเลขอัตราการตายของทารกต่อการเกิดมีชีพพันคนช่วงปี 2550-2554 ตัวเลขของ สธ. ก็ต่ำกว่าของทีดีอาร์ไอ โดยของ สธ.ตัวเลขอยู่ที่ 6.63-7.29 ต่อพันคน ส่วนตัวเลขของทีดีอาร์ไออยู่ที่ 9.71-10.95 ต่อพันคน และหากจำแนกตามเขตบริการสุขภาพ ก็พบว่าเขต 12 มีอัตราการเสียชีวิตของทารกสูงกว่าเขตอื่นๆ 

ดร.วรวรรณ ยังกล่าวถึงหัวข้อเรื่องค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 365 วันก่อนตาย เปรียบเทียบสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค) และสวัสดิการข้าราชการ โดยพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในระบบบัตรทอง อยู่ที่ 5.2 หมื่นบาท ส่วนสวัสดิการข้าราชการอยู่ที่ 9.8 หมื่นบาท และยังพบอีกว่าค่าใช้จ่ายของบัตรข้าราชการในการรักษาโรคเดียวกัน สูงกว่าบัตรทองถึง 38% โดยหากตายในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายบัตรทองอยู่ที่ 6.4 หมื่นบาท และสวัสดิการข้าราชการอยู่ที่ประมาณ 1.47 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการจ่ายของแต่ละกองทุนก็ต่างกัน เพราะบัตรทองจ่ายอัตราเดียวกันตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน ไปจนถึงระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้โรงพยาบาลที่มีความ advance ในการรักษาต้องประสบปัญหาขาดทุนเพราะต้นทุนการรักษาสูงกว่า ขณะที่สิทธิสวัสดิการข้าราชการ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มตามระดับความสามารถในการให้บริการ โดยในระดับโรงพยาบาลชุมชนค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 35,409 บาท และเพิ่มขึ้นเมื่อเป็นโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ โดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายมากที่สุด 181,361 บาท

ขณะเดียวกันก็พบอีกด้วยว่า อัตราของผู้สูงอายุที่ครองเตียงในโรงพยาบาลก่อนเสียชีวิต มีค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนว่า หากไม่ทำอะไร เตียงส่วนใหญ่ในโรงพยาบาล จะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ และทำให้โอกาสในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นผู้สูงอายุน้อยลง

ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็ก จะเห็นถึงความแตกต่างรายพื้นที่ ดังนั้นในแต่ละพื้นที่ต้องมีนโยบายที่โฟกัสปัญหาในพื้นที่มากกว่าจะกำหนดนโยบายจากระดับชาตินโยบายเดียวเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด หรือในส่วนของผลการศึกษาประเด็นความเป็นธรรมระหว่างบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการ ก็อาจต้องทบทวนวิธีการจ่ายเงินให้สอดคล้องตามความสามารถในการรักษาหรือไม่