ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นิมิตร์” ชี้ข้อเสนอ ทีดีอาร์ไอเท่ากับยอมรับประเทศมีหลายกองทุนสุขภาพได้ ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ รังแกคนจน แถมไม่ชี้ชัดคนชั้นกลางไม่ใช้บัตรทอง เหตุ สธ.ต้องการยืน 2 ขา เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ให้บริการ ส่งผลการรักษาระบบบัตรทองไม่มีประสิทธิภาพ ย้ำนักวิชาการต้องกล้าหาญประกาศ “รวมกองทุนเดียว” ด้าน “ดร.อัมมาร” แจงเห็นด้วยกับข้อเสนอแต่รอรวมกองทุนเดียวเป็นไปได้ยาก ต้องเดินหน้าส่วนที่พร้อมก่อน ขณะที่ “ดร.วรวรรณ” ชี้ เป้าหมายคือลดความเหลื่อมล้ำ รวมกองทุนไม่ใช่หนทางเดียว   

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในเวที “การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า : สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ” ว่า ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอยังขาดในหลายมิติ ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศมากขึ้น และมองว่าทีดีอาร์ไอกำลังสนับสนุนการรังแกคนจนให้ต้องจำยอมกับความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ ทั้งที่การศึกษาของทีดีอาร์ไอชี้ชัดว่า มีความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของประเทศที่ชัดเจน ซึ่งทั้ง 3 กองทุนสุขภาพมีค่ารักษาพยาบาลต่อหัวที่แตกต่างกัน แล้วทำไมข้อเสนอทีดีอาร์ไอไม่กล้าหาญพอที่ชี้ว่า หากจะปฏิรูประบบสุขภาพไทยต้องลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการชี้ประเด็นที่คนชั้นกลางไม่เข้ารักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สาเหตุเป็นเพราะกระทรวงสาธารณสุขยังยืนคุม 2 ขา โดยต้องการเล่นเป็นทั้งผู้บริหารกองทุนและผู้ให้บริการ จนส่งผลให้การรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มีประสิทธิภาพ

“ทำไมทีดีอาร์ไอไม่พูดว่า การที่มีหลายระบบนี้ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพประชาชน ทำให้ไม่เกิดการกระจายงบประมาณและทรัพทยากรแผ่นดินที่เป็นธรรม วันนี้เรายังมีกองทุนที่ดูแลคน 5 ล้านคนด้วยงบประมาณ 60,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันก็มีระบบที่ดูแลคนทั้งประเทศ 48 ล้านคน ด้วยงบเพียงแค่ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งนอกจากทีดีอารไอไม่พูดชี้ชัดว่า มันเกิดความไม่เป็นธรรมเพราะประเทศเรามีหลายกองทุนสุขภาพแล้ว แต่นักวิจัยกลับชี้ว่า เป็นเรื่องไม่แปลกหากประเทศไทยจะมีหลายกองทุน ซึ่งเท่ากับชี้ว่าเป็นเรื่องไม่แปลกที่ประเทศไทยจะมีความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลต่อไป ดังนั้นจึงอยากเห็นความกล้าหาญของนักวิชาการที่จะชี้ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว  

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อมูลงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างงบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้ต่างกันมากนักก็ยังขาดมิติประกอบเพิ่มเติม เพราะงานวิจัยไม่ได้บอกว่างบผู้ป่วยนอกที่เหมาจ่ายไปยังโรงพยาบาลด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับผู้ป่วยใน ส่วนหนึ่งเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับโรงพยาบาลถึงจำนวนงบประมาณที่จะได้รับแน่นอน ขณะที่งบผู้ป่วยในที่จ่ายไปที่โรงพยาบาลนั้น ต้องมีการบวกงบค่าใช้จ่ายเฉพาะโรคที่มีการแยกไว้อีกประมาณ 30 บาทต่อประชากร ที่เป็นวิธีประกันภาระค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ เท่ากับงบผู้ป่วยในอยู่ที่กว่าหนึ่งพันบาทต่อคน ดังนั้นจึงทำให้รู้สึกว่าข้อเสนอของทีดีอาร์ไอยังขาดรายละเอียดในมิติเหล่านี้ 

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ในความเห็นมองว่า การมีกองทุนสุขภาพเดียวในประเทศจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองในฐานะผู้ซื้อบริการได้ และยังเป็นการกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้กับประเทศไทย อย่างเช่นประเทศไต้หวันก็เป็นตัวอย่างประเทศที่ดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพโดยมีกองทุนเดียว ซึ่งประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกเข้ารักษายังโรงพยาบาลใดก็ได้ โดยรัฐเป็นผู้กำกับและควบคุมราคา เป็นการให้หลักประกันประชาชนว่าจะได้รับบริการที่ดีและมีคุณภาพ ดังนั้นทำไมจึงไม่ศึกษาในประเทศเหล่านี้ แต่กลับไปตั้งธงว่าประเทศไทยมีหลายกองทุนสุขภาพได้ โดยไม่กล้าแตะกองทุนสวัสดิการข้าราชการ

ด้าน ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในแง่อุดมคติเห็นด้วยกับการมีกองทุนสุขภาพเดียวในประเทศ และครั้งหนึ่งก็อยากทำแบบนั้น แต่ที่ไม่ยืนยันตามนั้นเนื่องจากต้องดูว่าอะไรที่พร้อมและสามารถดึงทรัพยากรเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพให้ได้มากที่สุดก่อน เพราะหากรอความพร้อม รวมถึงกระบวนการงบประมาณคงเป็นไปได้ยาก แม้แต่ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการมือง อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหลักการกองทุนประกันสุขภาพของประเทศคือบริการที่ให้ต้องเท่าเทียม แต่สิทธิประโยชน์และเงินที่จ่ายของแต่ละกองทุนยังมีแตกต่างกัน เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้การรวมกองทุนเดียวเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป

“ในฐานะประธานคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ มีข้อเสนอง่ายๆ ที่คิดไว้ เวลานี้การเสนอของบประมาณแต่ละปี สปสช.มีสิทธิเสนอของบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบไปยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นระบบที่ดี เพราะเมื่อ ครม.เคาะแล้ว งบก้อนนี้จะเป็นของกองทุนฯ การจะมาเกลี่ยทีหลังทำได้ยาก แต่ปัจจุบันผมอยากให้มีการนำเสนอของบประมาณพร้อมกัน 3 กองทุน คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม เพื่อให้ ครม.เห็นตัวเลขค่ารักษาพยาบาลต่อประชากรของทั้ง 3 กองทุน ซึ่งหากรัฐบาลยังคงอนุมัติก็จะได้มีผู้ที่รับผิดชอบค่ารักษาที่แตกต่างกันนี้” ดร.อัมมาร กล่าว

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เป้าหมายที่ต้องการคือการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ต้องให้ประชาชนแต่ละสิทธิได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและเป็นธรรม ซึ่งประเทศอื่นที่มีหลายกองทุนก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ เรื่องนี้จึงเป็นการจัดการที่ทำได้ ซึ่งการรวมกองทุนไม่ใช่หนทางเดียวในการลดความเหลื่อมล้ำนี้