ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่จำหน่ายและที่ผลิตจากโรงงานในประเทศ ตั้งแต่ปี 2555-2558 พบว่ายังมีปริมาณไอโอดีนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีปริมาณไอโอดีนสูงเกินไปครึ่งหนึ่ง และต่ำเกินไปอีกครึ่งหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับปริมาณไอโอดีนมากไป หรือน้อยไปก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีมาตรการในการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจว่าคนไทยจะได้รับไอโอดีนที่เพียงพอและเหมาะสม โดยมาตรการที่สำคัญหนึ่งคือการผลิตและการกระจาย เกลือเสริมไอโอดีน โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง เกลือบริโภคต้องมีไอโอดีนไม่น้อยกว่า 20 และไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังกำหนดให้น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากย่อยโปรตีนของถั่วเหลืองที่มีการเติมไอโอดีนในขบวนการผลิตต้องมีไอโอดีนไม่น้อยกว่า 2 มิลลิกรัมและไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพของเกลือและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่จำหน่ายและผลิตในประเทศมาตลอด ในส่วนของผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่จำหน่ายตามท้องตลาดในประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 - 2558 ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ปรุงรสทั้งหมด 383 ตัวอย่างแยกเป็นน้ำปลา 260 ตัวอย่าง โดยเป็นน้ำปลาแท้ 122 ตัวอย่าง น้ำปลาผสม 138 ตัวอย่าง ซอสปรุงรส 56 ตัวอย่าง ซีอิ้วขาว 51 ตัวอย่าง และอื่นๆ (ซีอิ้วดำเค็ม/หวาน และซีอิ้วดิบ) 15 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีปริมาณไอโอดีนไม่ได้มาตรฐานระหว่างร้อยละ 46.7, 60.9, 58.9, 49.0 และ 86.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ผลจากการดำเนินงานสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ปรุงรสในแต่ละปี พบว่า ทุกผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีปริมาณไอโอดีน ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดสูงมาก กล่าวคือ มีตั้งแต่ไม่พบไปถึงพบปริมาณไอโอดีนสูงถึง 81.4 มิลลิกรัมต่อลิตร อย่างไรก็ตามข้อมูลในปี พ.ศ.2558 พบว่าสถานการณ์ในภาพรวมของปริมาณไอโอดีนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดมีแนวโน้มดีขึ้นและปริมาณสูงสุดที่พบต่ำลงเหลือเพียง 6.2 มิลลิกรัมต่อลิตร

นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2558 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย สำนักอาหาร สำรวจปริมาณไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ปรุงรสโดยเก็บตรงจากโรงงานผู้ผลิตก่อนออกสู่ท้องตลาด 136 โรงงานจาก 26 จังหวัด จำนวน 300 ตัวอย่าง แยกเป็นน้ำปลา 210 ตัวอย่าง น้ำเกลือปรุงอาหาร 8 ตัวอย่าง ซอสปรุงรส 28 ตัวอย่าง ซีอิ้วขาว 37 ตัวอย่าง และซีอิ้วดำเค็ม/หวาน 17 ตัวอย่าง พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีปริมาณไอโอดีนไม่ได้มาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 56 โดยเป็นน้ำปลาแท้ น้ำปลาผสม น้ำเกลือปรุงอาหาร ซอสปรุงรส ซีอิ้วขาวและซีอิ้วดำเค็ม/หวาน คิดเป็นร้อยละ 48.1, 58.9, 50, 57.1, 54.1 และ 76.5 ตามลำดับ และพบว่ามีปริมาณไอโอดีนสูงสุดถึง 75.2 มิลลิกรัมต่อลิตรในน้ำปลาแท้

นพ.อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่จำหน่ายและที่ผลิตจากโรงงาน ยังมีปริมาณไอโอดีนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีปริมาณไอโอดีนสูงเกินไปครึ่งหนึ่ง และต่ำเกินไปอีกครึ่งหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับปริมาณไอโอดีนมากไป หรือน้อยไปก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขในทุกรูปแบบและมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับและพัฒนามาตรการให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทย

สารไอโอดีนมีความจำเป็นผลต่อสุขภาวะและสติปัญญาของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กล่าวคือมารดาที่ตั้งครรภ์ หากได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอจะมีผลต่อการพัฒนาเซลส์สมองของทารก และเด็กวัยเรียน หากขาดสารไอโอดีนจะทำให้เรียนรู้ช้า พัฒนาการไม่สมวัยและสติปัญญา ส่วนในผู้ใหญ่หากได้รับสารไอโอดีนไม่พอเพียงจะอ่อนเพลียง่าย ขาดความกระปรี้กระเปร่า ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง อย่างไรก็ดีหากร่างกายได้รับปริมาณไอโอดีนที่มากเกินพอจะก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้ โดยจะทำให้เกิดโทษต่อต่อมไทรอยด์เกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์เกินหรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ สำหรับคนปกติปริมาณไอโอดีนที่แนะนำต่อวันคือ 150 ไมโครกรัม