ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชวส และ ชสอ. ชมรมนักสาธารณสุขวิชาชีพ ขอเป็นตัวแทน รพ.สต. ร่วมพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข หวั่นค่าตอบแทน ปี 59 ยังคงใช้แนวทางเหลื่อมล้ำสูงเช่นเดิม พร้อมเสนอ 6 ข้อปรับการจ่ายค่าตอบแทน เช่น ให้นักสาธารณสุขวิชาชีพใน สสอ.และ สสจ.เบิกค่าตอบแทนได้ รพ.สต.ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับ รพช.ในพื้นที่พิเศษ/เฉพาะ โอนค่าตอบแทนลง รพ.สต.โดยตรง เพื่อลดภาระ รพช.และให้ รพ.สต.ได้รับเต็มจำนวน

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส (ชสอ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส (ชสอ.) และชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ชวส.) ได้ขอเข้าสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอปรับค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ในฐานะตัวแทนองค์กรของนักสาธารณสุขระดับ รพ.สต. เนื่องจากพบว่าตัวแทนวิชาชีพต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ระดับ รพ.เท่านั้น และได้เสนอที่ประชุมว่าในการประชุมครั้งต่อไป ชวส. และ ชสอ. ขอเข้าร่วมเป็นตัวแทนระดับ รพ.สต. และเสนอให้มีผู้แทนจากสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เพือเป็นตัวแทนนักสาธารณสุขวิชาชีพอีกด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยที่ประชุมได้นำเสนอมติ ครม. 21 กรกฎาคม ที่อนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้ครอบคลุมปีงบฯ 58 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 57 และให้กระทรวงสาธารณสุข นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้ข้อสังเกตไปพิจารณาประกอบด้วย โดยกำหนดให้ในปี 2558 ให้มีการเบิกจ่ายตามเกณฑ์เดิมไปก่อน และจะพิจารณาหลักเกณ์ปี 2559 ในครั้งต่อไป

“เกรงว่าปี 2559 หากค่าตอบแทนยังคงเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้ จะส่งผลให้บั่นทอนขวัญกำลังใจบุคลากรหลายวิชาชีพ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมต่อหลายๆ วิชาชีพ ทั้งนี้อยากให้มีการดำเนินการตามหลักการอย่างแท้จริง ตามมติ ครม.31 มี.ค 56 หรือ 21 ก.ค. 58 ที่มุ่งหวังให้ค่าตอบแทนฉบับ 8-9 เป็นการเยียวยาทุกวิชาชีพ ลดการขาดแคลนกำลังคน ลดความขัดแย้งแต่ละวิชาชีพ และเสริมสร้างขวัญกำลังใจในบุคลากรสาธารณสุข” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายริซกี สาร๊ะ เลขานุการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ชวส.) กล่าวว่า ชวส และ ชสอ.จึงได้นำเสนอแนวทางในการปรับค่าตอบแทนต่อที่ประชุมและไดยื่นข้อเสนอเป็นเอกสารไปแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ให้นักสาธารณสุขวิชาชีพ ระดับ สสอ./สสจ. สามารถเบิกค่าตอบแทนได้ โดยมีระเบียบให้เป็นหน่วยบริการ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข เนื่องจากเป็นหน่วยงานทีมีบริการด้านทันตกรรม แพทย์แผนไทย ด้านระบาดวิทยาและบริการสาธารณสุขอื่นๆ มากกว่า 8 ชม./สัปดาห์ (เฉกเช่นนิยามของอาจารย์พยาบาล ที่มีบทบาทด้านการสอน ไม่ได้มีบทบาทในการให้บริการผู้ป่วยโดยตรง ก็ถูกกำหนดให้มีการบริการไม่น้อยกว่า 8 ชม.ต่อสัปดาห์เช่นกัน) ทั้งนี้ สสอ. สสจ. ยังต้องออกพื้นที่ เช่นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จังหวัดเคลื่อนที่ อำเภอเคลื่อนที่ ฯลฯ อีกด้วย

2. ลดความเหลื่อมล้ำโดยให้ทุกวิชาชีพใน รพ.สต.ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับ รพช. ในเรื่องพื้นที่ปกติ พื้นที่พิเศษ พื้นที่เฉพาะ เพื่อให้ครอบคลุมถึง รพ.สต เพราะ รพ.สต.อยู่อำเภอเดียวกันกับ รพช. ซ้ำบางพื้นที่ รพ.สต.อยู่ในระดับตำบลมีความกันดารมากกว่าอีกด้วย

3. ลดความเหลื่อมล้ำ โดยการปรับระยะเวลาให้ทุกวิชาชีพใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน

4. ควรใช้มาตรฐานพีฟอร์พี หรือ Pay for Performance ของทุกวิชาชีพในทิศทางเดียวกัน เพราะพบว่าบางวิชาชีพ ใช้หลายหลักเกณฑ์ยิบย่อยมาพิจารณา workload เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน แต่ในบางวิชาชีพไม่ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว หรือใช้แค่ฐานประชากร (pop ratio) มาพิจารณา

5. ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องอัตราค่าตอบแทนในแต่ละวิชาชีพ ไม่ให้มีความต่างจนเกินไป ทั้งนี้พบว่า ค่าตอบแทนที่ต่ำที่สุด มีความต่างกันเป็นร้อยเท่าเมื่อเทียบกับค่าตอบแทนที่สูงที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข

6. ในพื้นที่พิเศษ พื้นที่เสี่ยงภัย มีระเบียบข้อบังคับกระทรวงเรื่องค่าตอบแทน ปี 2544 ระบุสามารถเบิกได้ 2 เท่าของค่าตอบแทนพื้นที่ปกติ แต่พบว่ายังไม่มีผลในทางปฏิบัติกับทุกวิชาชีพ ทำให้บุคลากรในพื้นที่ดังกล่าวเสียสิทธิ ทั้งที่ปฏิบัติงานด้วยความยากลำบาก เสี่ยงภัยในพื้นที่

7. ควรระบุถึงวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ในข้อบังคับกระทรวงด้วย ในฐานะวิชาชีพที่ 8

8. ควรมีการสนับสนุน รพ.สต.ที่มีปัญหาทางการเงิน อีกทั้งควรโอนค่าตอบแทนลง รพ.สต.โดยตรง เพื่อความคล่องตัว กระจายอำนาจและลดภาระงาน รพช. รวมทั้งป้องกันปัญหา รพ.สต.ได้ค่าตอบแทนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นายริซกี กล่าวว่า ชวส. และ ชสอ. ในฐานะเป็นตัวแทนนักสาธารณสุขวิชาชีพอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ทำงานในระดับ รพ.สต.ต้องทำงานในพื้นที่ชนบท เป็นองค์กรปฐมภูมิที่อยู่ด่านหน้า รับทุกนโยบายของกระทรวง กรม กองจึงขอให้พิจารณาค่าตอบแทนให้มีความเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ อันจะส่งผลให้บุคลากรมีความปรองดอง และสมานฉันท์ เดินหน้าสนองนโยบายกระทรวงได้เต็มที่

“ขอวอนผู้บริหาร สธ.คำนึงถึง รพ.สต.ที่เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขขนาดเล็กที่มากที่สุด มีอยู่หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ แต่กลับไม่ถูกระบุในกฏกระทรวง ทำให้เสียสิทธิไปหลายประการ และแม้นักสาธารณสุขวิชาชีพจะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ แต่มีการสนับสนุนทรัพยากรและสวัสดิการน้อย ทั้งๆ ที่อยู่ในตำบล หมู่บ้านที่กันดาร ทำให้ขาดขวัญกำลังใจ เนื่องจากพบว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงมากในกระทรวงสาธารณสุข” นายริซกี กล่าว